This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 19 เมษายน 2556     อ่าน: 70,279 ครั้ง



มาเลี้ยงกระต่ายกันดีไหม?


        กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่เลี้ยงง่าย กินอาหารไม่เลือก แพร่ขยายพันธุ์ได้เร็ว มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง และมีวงจรในการผลิตสั้น แม่กระต่าย 1 แม่ สามารถผลิตลูกให้เนื้อเท่ากับลูกวัว 1 ตัว ใน 1 ปี กระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งได้เนื้อ ได้หนัง ได้ขน รวมทั้งใช้เป็นสัตว์ทดลองในการวิจัยด้านต่างๆ นอกเหนือจากการเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามไว้ดูเล่น

        ประเภทและพันธุ์กระต่าย: กระต่ายที่เลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันทั่วโลกมีหลายร้อยสายพันธุ์ ถ้าแบ่งตามประเภทของการใช้ประโยชน์  สามารถแบ่งออกได้เป็นกระต่ายเนื้อ กระต่ายขน กระต่ายสวยงาม และกระต่ายใช้เป็นสัตว์ทดลอง  พันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป ได้แก่

1. กระต่ายพื้นเมือง (Native Breed) มีขนาดตัวเล็กโตเต็มที่ประมาณ 2 - 3 กก. โตช้า มีสีหลายสีไม่แน่นอน แต่แข็งแรง ทนทาน สืบพันธุ์ให้ลูกได้ดีแม้อากาศร้อน

2. พันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ (New Zealand Whtie) สีขาวปลอด ตาแดง ขนาดตัวปานกลาง โตเต็มที่ประมาณ 4 – 5 กก. รูปร่างสวย เนื้อมาก โตไว เป็นแม่พันธุ์ที่ดี

3. พันธุ์คาลิฟอร์เนียน (Californian) มีสีขาว ตาแดง  ยกเว้นรอบจมูก หู หางและเท้าทั้งสี่เป็นสีดำ มีขนาดตัวย่อมกว่านิวซีแลนด์ไวท์เล็กน้อย โตเต็มที่ประมาณ 3.5 – 4.5 กก. รูปร่างกลมแน่น โตไว ขนหนาแน่นอ่อนนุ่มและสั้นกว่าพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์

4. พันธุ์ชิคคา – แซท (Zika – Z)  สีขาวปลอด ตาแดง คล้ายนิวซีแลนด์ไวท์แต่มีขนาดตัวยาวใหญ่กว่า หูใหญ่กว่า และขน หนาแน่นน้อยกว่า เติบโตไว ให้ซากที่มีเนื้อมาก และหนังติดขนผืนใหญ่ โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 4.5 – 5.5  กก.

5. พันธุ์ชินชินล่า (Chinchilla) มีสีเทา ตาดำ มีขนาดตัวแตกต่างกัน ตั้งแต่พันธุ์ขนาดเล็ก 2 กก. ถึงพันธุ์ขนาดใหญ่ 5 กก. เป็นกระต่ายที่มีความแข็งแรงทนทาน
เลี้ยงง่าย และให้หนังและขนดีพันธุ์หนึ่ง

6. พันธุ์เชคเกอร์ไจแอนท์ (Checkered  Giant) มีขนาดตัวใหญ่ รูปร่างสวย  เนื้อมาก พื้นตัวสีขาว มีแต้มสีดำบริเวณรอบจมูก ตา หู แก้ม และแนวสันหลัง โตเต็มที่ประมาณ 5 - 6 กก.

7. พันธุ์เรกช์ (Rex) เป็นกระต่ายที่มีหลายสี แต่มีลักษณะขนเฉพาะคือขนสั้นหนาตั้งตรง คล้ายกำมะหยี่ ขนาดตัวโตเต็มที่ประมาณ 3 – 4 กก.

8. พันธุ์หูตก (Lop) เป็นกระต่ายที่มีหูยาวใหญ่ มีหลายสี เลี้ยงเป็นกระต่ายสวยงาม

9. กระต่ายพันธุ์ขน (Angora) เป็นกระต่ายที่มีขนยาวนุ่มละเอียด มีสีขนกลายสีเลี้ยงเพื่อตัดขนขาย โตเต็มที่ขนาดตัวประมาณ 3 – 4 กก.

 

 

การเลี้ยง: กระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย เลี้ยงได้ทุกที่ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สะอาด มูลเป็นเม็ดแข็งๆ แบบมูลแพะไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีเสียงร้องรบกวนอาหารที่ใช้เลี้ยงสามารถเลี้ยงด้วยเศษผักเศษหญ้า และพวกใบไม้เกือบทุกชนิด รวมไปถึงใบกล้วย ใบตำลึง ผักตบชวา และไมยราพยักษ์ เสริมด้วยเศษข้าวที่เหลือในครัวเรือน แต่ถ้าจะให้กระต่ายโตไว และให้ผลผลิตสูง ควรใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีจำหน่ายทั้งอาหารกระต่ายเอง หรืออาหารสุกรรุ่น อาหารไก่รุ่น ให้กระต่ายกินเสริม ก็จะทำให้กระต่ายแข็งแรงโตไวขึ้น โดยควรให้อาหารชนิดอัดเม็ด กระต่ายกินอาหารไม่เปลือง จะกินอาหารแค่วันละ 1 – 2 ขีด/ตัว/วัน สำหรับน้ำเป็นสิ่งที่กระต่ายจะขาดไม่ได้เช่นเดียวกับคนและสัตว์อื่นความเชื่อที่ว่าเลี้ยงกระต่ายไม่ต้องให้น้ำกิน เป็นความเชื่อที่ผิด

โรคกระต่าย: กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีโรคแมลงรบกวนน้อย โรคที่มักจะพบได้แก่ อาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไปหรือเชื่อบิด การรักษาใช้ยากลุ่มซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะแก้ท้องเสียทั่วไป และโรคขี้เรื้อน ซึ่งเกิดจากตัวไรขี้เรื้อน การรักษาใช้กำมะถัน (ผง) ผสมน้ำมันพืช 1 : 2 ส่วนทา 2 – 3 ครั้งจนหาย หรือใช้ยาบี-เม็คติน ฉีดใต้ผิวหนัง 0.2-0.3 ml. ห่างกัน 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง:
เนื่องจากกระต่ายเป็นสัตว์ชอบกัดแทะ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไม้ทำกรงหรือภาชนะใส่อาหาร เพราะกระต่ายจะกัดแทะไม้จนกร่อนหัก เสียหายหมดถ้าใช้พวกกระถินหรือไมยราพยักษ์เลี้ยงกระต่าย ควรตัดให้กินทั้งกิ่ง กระต่ายจะได้ถือโอกาสแทะลับฟันไปด้วย และเมื่อเลี้ยงกระต่ายจนอายุได้ 4 – 5 เดือน กระต่ายก็จะโตเป็นหนุ่มสาว และพร้อมผสมพันธุ์ กระต่ายอุ้มท้องเพียง 1 เดือน และคลอดลูกครั้งละ 5 – 10 ตัว หลังจากคลอดลูก และเลี้ยงลูกไป 1- 2 เดือน ก็สามารถหย่านม และผสมพันธุ์แม่กระต่ายได้อีก ฉะนั้นปัญหาที่ควรระวังสำหรับผู้ที่เลี้ยงกระต่ายแบบเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และสงสารไม่กล้าฆ่าหรือขายลูกกระต่ายคือ ต้องระวังอย่าปล่อยให้แม่กระต่ายผสมพันธุ์บ่อย เพราะมิฉะนั้นจากแม่กระต่ายเพียง 1 ตัว ใน 1 ปี ท่านจะมีกระต่ายที่ต้องเลี้ยง 100 ตัว!

 

ข้อมูลทางด้านชีววิทยาของกระต่าย

ข้อมูล

ค่าเฉลี่ย

ช่วงความกระจาย

ช่วงชีวิต            

(ปี)

5

3 – 13

อายุเริ่มเป็นหนุ่มสาว       

(เดือน)

4

3 - 5

อายุที่เหมาะผสมพันธุ์

(เดือน)

5

4 – 7

วงรอบการเป็นสัต

(วัน)

16

16 – 18

ระยะเป็นสัต

(วัน)

12

12 – 14

ระยะเวลาตั้งท้อง

(วัน)

31

29 – 35

จำนวนลูกต่อครอก

(วัน)

8

1 – 22

อายุลูกกระต่ายเริ่มลืมตา

(วัน)

10

9 – 12

อายุเริ่มกินอาหารแข็ง

(วัน)

21

15 – 23

อายุเมื่อหย่านม

(สัปดาห์)

6

3 – 8

ปริมาณอาหารที่กินได้ทั้งหมด

(กรัม/วัน)

150

100 - 300

อุณหภูมิร่างกาย

  (˚C)

39.1

38.6 – 39.6

 
 


ขอขอบคุณรูปภาพจาก:
market.onlineoops.com
arunsawat.com

-----------------------------------------------

สุคีพ ไชยมณี  /เรียบเรียง




แนะนำองค์ความรู้
กัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์

ชื่อท้องถิ่น : ชัยพฤกษ์(กลาง)/ เปลือกขม (ปราจีนบุรี) ชื่อสามัญ : Wishing tree/ Pink shower/ Pink Cassia เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น


มะม่วง

มะม่วง

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์ คือ นวลคำ ปาล์มเมอร์ อาร์ทูอีทู เออร์วิน


การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าของลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ มีลักษณะการทอแบบคาดหลัง คล้ายชาวเขาส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่แตกต่างกันในลักษณะการเก็บตะกอ...


ผักเฮือด

ผักเฮือด

ผักเฮือดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสกุลเดียวกับไทรและมะเดื่อ ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน