This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 6 สิงหาคม 2556     อ่าน: 16,004 ครั้ง




โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน
“โครงการพัฒนาทางเลือกเชิงบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น”


“เรามุ่งที่จะป้องกันการแพร่ระบาดการปลูกฝิ่นด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ให้พึ่งพาตนเองได้โดยใช้องค์ความรู้โครงการหลวงและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

        ปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นในอดีตของประเทศไทย เริ่มขึ้นมาร่วม 100 ปี โดยชาวเขาเผ่าต่างๆบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวจีนยูนาน ที่ทำการปลูกฝิ่นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศอังกฤษ   โดยมีการปลูกในบริเวณเขตแนวเทือกเขาติดต่อระหว่างไทย พม่า และอินโดจีน โดยเฉพาะในเขตรัฐฉาน จึงส่งผลให้กลุ่มผู้ปลูกฝิ่นส่วนใหญ่จึงเป็นชาวเขาเผ่าม้ง เย้า และกระจายไปยังชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยบนพื้นที่สูง ฝิ่นจึงกลายเป็นพืชรายได้ในตอนนั้น  โดยในปี พ.ศ. 2508 – 2509 ประเทศไทยพบมีการปลูกฝิ่นประมาณ 112,000 ไร่

        ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยะภาพที่ทรงมองการณ์ไกล ถึงปัญหาของยาเสพติดที่จะส่งผลเสียต่อประเทศในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2512 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาลดการปลูกพืชเสพติด และอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร  ส่งผลให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ  40 ปี จาก ปี พ.ศ. 2502 จนถึงปี พ.ศ.2542 จึงสามารถลดพื้นที่ปลูกฝิ่น จาก 112,000 ไร่ จนเหลือประมาณ 6,000ไร่ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ถอนชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่เป็นผู้ผลิต และลำเลียงยาเสพติดในปี พ.ศ. 2547

 

  



        จากคราวการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.)  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำเสนอสถานการณ์การปลูกฝิ่น ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน  ซึ่งมีพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547  โดยในปีพ.ศ.2550  พบพื้นที่ปลูกฝิ่น จำนวน 1,800 ไร่  ซึ่งเพิ่มขึ้น จำนวน 1,056 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อย 59 จากปี พ.ศ.2547 พร้อมทั้งขอให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้าดำเนินการช่วยเหลือโดยเฉพาะการพัฒนาทางเลือกทดแทนการปลูกฝิ่น  โดยองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงจึงได้มอบให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รับไปดำเนินการ

        ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน  ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556) และมีหน่วยงานร่วมบูรณาการการพัฒนา รวม 22 หน่วยงาน  โดยแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

วัตถุประสงค์ของโครงการ


        “เพื่อขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวง โดยใช้แนวทางของโครงการหลวงและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการมุ่งเสริมสร้างอาชีพและรายได้บนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม และการลดปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานสู่การพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะการสร้างรากฐานที่มั่นคงของประเทศด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของฝิ่น  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง”

        โดยดำเนินงานในพื้นที่ครอบคลุม 115 หย่อมบ้าน ใน 15 ตำบล ของ 7 อำเภอ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก  ประชากรเป้าหมายรวม 4,425 ครัวเรือน  จำนวน 23,585 คน

 

ผลการดำเนินงานของโครงการที่สำคัญในระยะที่ผ่านมา


        1. หมู่บ้านเป้าหมาย มีแนวโน้มการปลูกฝิ่นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยประเมินจาก รัศมี 3 กิโลเมตร ของพื้นที่เป้าหมาย 115  หย่อมบ้าน ของ 10 ศูนย์ปฏิบัติการฯ โดยเริ่มแรก ปี 2552 พบพื้นที่ปลูก 754.18 ไร่ และปี 2555 ลดลงเหลือเพียง 522.8 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 40 และไม่พบพื้นที่ปลูกฝิ่นในพื้นที่ของหมู่บ้านเป้าหมาย  จำนวน 17 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่

        2. หมู่บ้านเป้าหมายที่ประชากรปลูกฝิ่นได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 68 บ้าน หรือคิดเป็น   ร้อยละ 59  ของหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด

        3. ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 7,296 ราย โดยเกษตรกรจำนวน 7,209 ราย ใน 68 บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 98 นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มจาก 33,635 บาท/ครัวเรือน/ปี (สวพส., 2552) เป็น 78,814.78 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.3 เท่าตัว

        4. ชุมชนเป้าหมาย จำนวน 68 ชุมชน มีแผนชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วม หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด  และผู้นำชุมชน  จำนวน 1,320 ราย ได้รับการพัฒนาและปรับเจตคติซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด

        5. หมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 68 บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.13 ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนตามแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ


-------------------------------------------

ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 2





แนะนำองค์ความรู้
ข้าวโพดหวาน

ข้าวโพดหวาน

ข้าวโพดหวานจัดเป็นพืชที่ให้พลังงานสูงและมีปริมาณโปรตีนรองจากถั่วลันเตา ถั่วแขก และกระเทียม นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่สูง


ภูมิปัญญาการสกัดน้ำมันจากพื้ชท้องถิ่น

ภูมิปัญญาการสกัดน้ำมันจากพื้ชท้องถิ่น

ปัจจุบันภูมิปัญญาในการสกัดน้ำมันเริ่มสูญหายไป เหลือผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทำเป็นอยู่ไม่กี่คน และบางส่วนเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรสมัยใหม่


สมุนไพรน่ารู้

สมุนไพรน่ารู้

สมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน บางชนิดอาจพบเห็นได้ยากง่ายต่างกันไป และแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้รักษากันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย...


มะม่วง

มะม่วง

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์ คือ นวลคำ ปาล์มเมอร์ อาร์ทูอีทู เออร์วิน



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน