This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 13 สิงหาคม 2556     อ่าน: 17,949 ครั้ง


  

การปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดมลพิษทางหมอกควัน


        การตัดไม้ทำลายป่าตามด้วยการเผาเศษวัชพืช ต้นไม้ รวมทั้งเศษพืชจากการทำการเกษตรต่างๆ ล้วนเป็นกิจกรรมและสาเหตุเพื่อทำการเกษตรของเกษตรกรบนพื้นที่สูง ทั้งนี้มีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกษตรกรต้องทำเช่นนั้น อาทิ การขาดความรู้ในการทำการเกษตรที่ถูกต้อง การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้อาหารมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค การดำรงชีวิตพร้อมกับการประกอบอาชีพทำการเกษตรวีถีแบบเดิมเช่นนี้ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้และนำไปสู่การประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น หมอกควันที่คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งพื้นราบและที่สูงต้องประสบเป็นประจำทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักๆ คงหนีไม่พ้นการเผาป่าไม้  การเผาเศษวัสดุจากการเกษตร เป็นต้น

  

       
        การแก้ไขปัญหาเรื่องความขาดแคลนทางด้านอาหาร และรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการทำไร่เลื่อนลอยเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรมาเป็นแบบผสมผสานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาผลผลิต  และเน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรที่มีรายได้ และช่วยรักษาป่า  ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และที่สำคัญนั้นสามารถปลูกร่วมกับพื้นที่ป่าหรือไม้ยืนต้นได้ นั่นคือ “กาแฟอราบิก้า”  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า โดยการขยายผลสำเร็จด้านวิชาการของโครงการหลวง มีการส่งเสริมกาแฟอราบิก้าไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดรายได้ทางการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง

        สำหรับการผลิตกาแฟอราบิก้าในภาคเหนือของประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มักปลูกกาแฟในบริเวณพื้นที่ลาดเอียงตามไหล่เขา มีระบบการปลูกแบบพืชเดี่ยว และปลูกแบบกลางแจ้งโดยไม่มีต้นไม้บังร่มที่จะช่วยลดความเข้มแสงและอุณหภูมิ จึงทำให้ต้นกาแฟให้ผลผลิตไม่ยาวนาน และต้นกาแฟเสื่อมโทรมเร็ว ประกอบกับต้องใช้ปัจจัยการผลิตจำพวกปุ๋ยหรือสารเคมีเกษตรอื่นๆ ค่อนข้างสูง  และมีข้อจำกัดอีกประเด็นที่สำคัญคือ เรืองพื้นที่ปลูก เนื่องจากการปลูกกาแฟแบบกลางแจ้งเกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกโดยการตัดไม้ทำลายป่า เผากำจัดเศษวัชพืช  เพื่อให้พื้นที่โล่งและเรียบเหมาะสำหรับปลูกกาแฟซึ่งส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าการปลูกกาแฟแบบนี้อาจได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มทุนแล้ว ยังเป็นการทำลายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงอีกด้วย

 

“ปลูกกาแฟอย่างไร ” การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาต้นไม้

        การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาอาจมีผลผลิตไม่สูงเท่าการปลูกกาแฟแบบกลางแจ้ง แต่มีข้อดีคือต้นกาแฟไม่โทรมและมีอายุการให้ผลผลิตที่ยาวนานกว่า เนื่องจากไม้บังร่มจะช่วยลดความเข้มแสง อุณหภูมิใต้ทรงพุ่มและอุณหภูมิดินทำให้กาแฟให้ผลผลิตสม่ำเสมอ คุณภาพสูง การปลูกภายใต้สภาพร่มเงาเป็นระบบการปลูกที่ใช้ปุ๋ยน้อยกว่าการปลูกกาแฟแบบ กลางแจ้ง เนื่องจากป่าธรรมชาติดินมักมีอินทรียวัตถุสูง และมีความชื้นสูง อันมาจากการทับถมของใบไม้ที่ร่วงหล่นทำให้สามารถเป็นปุ๋ยและคลุมดินเพื่อ รักษาความชื้นในดินได้ และช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากกาแฟมีระบบรากแก้วและรากเหนือดินที่ดี ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ นอกจากนี้การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาต้นไม้ถือว่าเป็นการลดปัญหาเรื่องพื้นที่ ปลูก เพราะเกษตรกรสามารถปลูกในพื้นที่ป่าทำกินหรือร่วมกับไม้ผลยืนต้น เช่น บ๊วย ท้อ มะคาเดเมียนัท และอะโวกาโด จึงเป็นการลดปัญหาการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า ลดปัญหาการเผาอันเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน และเกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกกาแฟแซมสวนไม้ผล จึงนำไปสู่การประกอบอาชีพเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ฝืนป่าได้อย่างยั่งยืน

การทำเกษตรแบบผสมผสาน “สร้างความสมดุล ลดการตัดไม้ทำลายป่า”

     การปลูกกาแฟร่วมกับป่าไม้ หรือไม้โตเร็ว โดยไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ลดการตัดไม้ทำลายป่า เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่เดียวกันช่วยสร้างความหลากหลายของชีวภาพของพืชและสัตว์  ซึ่งพืชและแมลงแต่ละชนิดสามารถเอื้อประโยชน์หรือมีผลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สภาพนิเวศน์มีความชุ่มชื้น เนื่องจากการปลูกกาแฟทำให้มีต้นไม้ปกคลุมดินซึ่งสามารถควบคุมวัชพืชไปในตัว พื้นที่ปลูกกาแฟจึงเป็นเสมือนป่าไม้ ซึ่งได้ให้ที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ต่างๆ  รวมทั้งการทำให้ดินที่อยู่ใต้ร่มเงาต้นกาแฟมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชนำมาซึ่งผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั้งในชุมชนและนอกชุมชนได้

--------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย
ดร.สิทธิเดช ร้อยกรอง
นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

--------------------------------------------------



อ้างอิง
คู่มือการปลูกและการผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)
พัชนีและคณะ. 2548. รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์การศึกษาศักยภาพในการผลิตกาแฟอราบิก้าอินทรีย์ ในภาคเหนือของประเทศไทย.
     ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธีระเดช พรหมวงศ์ และประเสริฐ คำออน. 2544. ยุทธวิธีการส่งเสริมระบบการปลูกกาแฟอราบิก้าร่วมกับไม้ผลเศรษฐกิจ. ศูนย์วิจัยและ
     ฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กระบวนการผลิตกาแฟคั่วบดสำหรับเกษตรกร รุ่นที่ 2/2551. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ.ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูงคณะ
     เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่





แนะนำองค์ความรู้
การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าของลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ มีลักษณะการทอแบบคาดหลัง คล้ายชาวเขาส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่แตกต่างกันในลักษณะการเก็บตะกอ...


ราสพ์เบอรี่ (Raspberry)

ราสพ์เบอรี่ (Raspberry)

ราสพ์เบอรี่เป็นไม้ผลเขตหนาวขนาดเล็กที่มีอายุหลายปีโดยจะมีต้นใหม่งอกจากรากที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาทดแทนต้นเดิมที่ให้ผลผลิตแล้วทุกปี


ระบบการเพาะปลูกที่ดี (ไม้ผล)

ระบบการเพาะปลูกที่ดี (ไม้ผล)

การปลูกไม้ผลเป็นอาชีพสำคัญ ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน


เฮมพ์ หรือ กัญชง

เฮมพ์ หรือ กัญชง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้เส้นใยเฮมพ์เพื่อนำมาแปรรูปและใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด แต่เกษตรกรยังไม่สามารถผลิตเส้นใยเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน