This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 1 ตุลาคม 2555     อ่าน: 33,221 ครั้ง


This text will be replaced

การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 2


 ผลกระทบจากไฟป่า

       
        ผลกระทบอันเกิดจากไฟป่า ได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมมาก ยิ่งกว่าสาเหตุอื่นๆ เพราะไฟป่าสามารถลุกลาม ไหม้ทำลายพื้นที่จำนวนมาก ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่เพียงแต่จะก่อความเสียหาย แก่พื้นที่นั้นเท่านั้น หากแต่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศโดยรวมของโลกอีกด้วย

        การได้ทราบถึงผลเสียหายทั้งหมด ที่เกิดจากไฟป่า จะทำให้ประชาชน เกิดความเข้าใจ และตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาไฟป่า เพื่อจะได้เกิดความตื่นตัว และเล็งเห็นความจำเป็น ที่จะต้องร่วมมือกันป้องกันไฟป่าอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดภัยพิบัติอันมีสาเหตุมาจากไฟป่า ผลกระทบของไฟป่าต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ  
มีดังนี้

1. ผลเสียของไฟป่าต่อสังคมพืช     

1) ลดอัตราการเจริญเติบโต และลดคุณภาพเนื้อไม้ของต้นไม้ ไฟป่าจะเผาลวก ลำต้นของต้นไม้ ทำให้เกิดบาดแผลรอยไหม้ที่เปลือกไม้ ทำให้เชื้อโรคและแมลง เข้าทำอันตรายต่อเนื้อไม้ได้โดยง่าย ทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต ลดคุณภาพของเนื้อไม้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์

2) ขาดช่วงการสืบพันธุ์ทดแทนตามธรรมชาติ ไฟป่าจะเผาทำลายลูกไม้กล้าไม้เล็กๆ ทำให้หมดโอกาสที่จะเจริญเติบโต เมื่อต้นไม้เดิมล้มตายไปตามอายุขัย หรือถูกตัดฟันไปใช้ประโยชน์ จึงไม่มีต้นไม้เล็กเติบโตขึ้นมาทดแทน สภาพป่าก็จะค่อยๆ  หมดไปในที่สุด

3) เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของป่า พื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จะมีผลทำให้โครงสร้างของป่าเปลี่ยนแปลงไป ต้นไม้จะถูกไฟไหม้ตายหมด พื้นที่ป่าจะคงเหลือแต่พืชที่ปรับตัวได้ดี เช่นหญ้าคา หญ้าขจรจบ จนสภาพป่าจะกลายเป็นทุ่งหญ้า และทุ่งหญ้าขจรจบเป็นพันธุ์ไม้หลักในที่สุด

2. ผลเสียของไฟป่าต่อดิน     

1) เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดิน โดยไฟป่าจะทำลาย สิ่งปกคลุมดิน ทำให้หน้าดินเปิดโล่ง เมื่อถึงฤดูฝน เม็ดฝนจะตกกระทบหน้าดินโดยตรง แรงกระแทกของ เม็ดฝนจะทำให้ชั้นหน้าดินอัดตัวแน่นทึบ ทำให้ความสามารถในการอุ้มน้ำหรือดูดซับความชื้นของดินลดลง

2) เกิดการชะหน้าดิน และการพังทลายของดิน เมื่อฝนตกมากขึ้น แต่ไม่สามารถซึมลงดินได้ทัน เนื่องจากความสามารถในการดูดซับน้ำของดินลดลง น้ำจะไหลบ่าไปตามหน้าดิน แรงน้ำจะกัดชะผิวหน้าดิน ให้พังทลายตามไปด้วย ทำให้สูญเสียหน้าดิน และตะกอนดิน จะถูกพัดพาลงสู่ลำธาร ก่อให้เกิดสันดอนตามแหล่งน้ำ ทำให้ความสามารถในการเก็บกักน้ำลดลง

3) ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ บริเวณพื้นป่า และชั้นผิวดิน ถือเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดของชั้นดิน ที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช หน้าดินที่เปิดโล่ง ทำให้ดินสูญเสียความชื้น นอกจากนี้ จุลินทรีย์ในดินถูกทำลาย ทำให้กิจกรรมการย่อยสลาย อินทรียวัตถุหยุดชะงักลง ดินปราศจากแร่ธาตุอาหาร ไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ ต่อการดำรงชีพของพืชอีกต่อไป

3. ผลเสียของไฟป่าต่อทรัพยากรน้ำ     

1) ทำให้ปริมาณน้ำไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องใช้ประโยชน์ โดยปกติเมื่อฝนตก ดินจะทำหน้าที่ดูดน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อถึงฤดูแล้งก็จะค่อยๆ ปลดปล่อยออกมา ทำให้มีน้ำตลอดปี แต่เมื่อป่าถูกไฟไหม้ ความสามารถในการดูดซับน้ำลดลง เมื่อถึงฤดูฝน น้ำฝนที่ตกลงมา ไม่สามารถซึมลงสู่ดินได้ น้ำก็จะไหลบ่าลงสู่ลำห้วย ลำธารอย่างรวดเร็ว จนเกินความจุที่จะรองรับได้ ทำให้เกิดน้ำท่วม เกิดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ครั้นเมื่อถึงฤดูแล้ง ในชั้นดินไม่มีน้ำเก็บสะสม อยู่ตามช่องรูพรุนของดิน จึงไม่มีน้ำไหลออกมาหล่อเลี้ยงลำน้ำ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์

2) เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของน้ำ น้ำที่ไหลบ่าตามหน้าดิน จะชะล้างเอาตะกอน ที่เกิดจากไฟไหม้ ไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้ลำน้ำขุ่นข้น แสงแดดส่องผ่าน ลงไปในน้ำได้น้อยลง เกิดผลเสีย ต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ยิ่งกว่านั้น น้ำจะเกิดการเน่าเสีย มนุษย์ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้อีกต่อไป

4. ผลเสียของไฟป่าต่อสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่า     

1) ผลเสียต่อสัตว์ป่า เมื่อเกิดไฟไหม้ป่า สัตว์เล็กที่หากินอยู่บนพื้นป่า หรือสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งเคลื่อนไหวเชื่องช้าอาจหนีไฟไม่ทัน จะถูกควันไฟรม และถูกไฟคลอกตาย นอกจากนี้ ไฟป่ายังทำลาย และเปลี่ยนแปลงสภาพแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหาร ทำให้ไม่เหมาะสม ต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า อีกต่อไป

2) ผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆในป่า สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในป่าบางชนิด มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อระบบนิเวศของป่า เมื่อเกิดไฟไหม้ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะตาย เพราะความร้อนจากเปลวไฟ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อระบบการหมุนเวียน ของธาตุอาหาร และระบบห่วงโซ่อาหาร มีผลให้เกิดการ เสียสมดุลตามธรรมชาติของป่า

5. ผลเสียของไฟป่าต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์       

ไฟป่าลุกลามเข้าไหม้หมู่บ้าน เรือกสวน และทรัพย์สินของประชาชน ที่อาศัยอยู่ใกล้ป่า บ้านเรือนต้องวอดวายเป็นเถ้าถ่าน ทรัพย์สินอื่นๆ ต้องสูญเสียไปในกองเพลิง ประชาชนไร้ที่อยู่ ตาย หรือบาดเจ็บจากไฟป่า และหมอกควันไฟ ยังก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

6. ผลเสียของไฟป่าต่อสภาวะอากาศของโลก       

ไฟป่า ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งมีผลทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย มีผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำทะเลจะหนุนเข้ามา ตามแม่น้ำลำคลอง ทำให้มีสภาพเป็นน้ำกร่อย และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังทำให้ระบบนิเวศของโลก เสียสมดุลตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดการ ก่อตัวของพายุที่มีความรุนแรง ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นไปตามฤดูกาล สร้างความเสียหายต่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและบริเวณที่อยู่อาศัย

7. ผลเสียต่อการนันทนาการ       

ไฟป่า ทำความเสียหายกับความงดงามตามธรรมชาติ ของป่าไม้ ป่าที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สวยงามก็หมดสภาพลง  มนุษย์จะขาดแหล่งพักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความตึงเครียด ของจิตใจ นอกจากนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศ


การแก้ไขปัญหาไฟป่า


1. แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ป้องกันกิจกรรม ที่ต้องใช้ไฟในพื้นที่ป่า ที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า   โดยการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับอาชีพของประชาชน ที่ต้องพึ่งพิงป่า เพื่อความอยู่รอด ให้มีกิจกรรมการใช้ไฟในพื้นที่ป่าลดลง เช่น การส่งเสริมอาชีพ ให้กับประชาชน ต้องทำให้ครบวงจร ทั้งกระบวนการผลิต การตลาด เพื่อให้ประชาชน มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน ให้ทราบถึงผลเสีย และภัยอันตราย ที่เกิดจากไฟป่า ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า และอยู่นอกพื้นที่ป่าให้ทั่วถึง ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และช่วยป้องกันไฟป่า

3. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้กับประชาชน ให้เป็นคนดี ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ต้องร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า


การป้องกันการเกิดไฟป่า ท่านสามารถช่วยได้โดย

1. ตนเองไม่เป็นสาเหตุ ของการเกิดไฟป่าโดยไม่จุดไฟเผาป่า และหากมีกิจกรรมที่ต้องใช้ไฟ ในพื้นที่ป่าต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ก่อนออกจากป่าต้องดับไฟให้สนิททุกครั้ง

2. ช่วยบอกต่อถึงผลเสีย และอันตรายจากไฟป่าให้ผู้อื่นทราบ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า

3. ช่วยเฝ้าระวังเหตุ และแจ้งเหตุไฟป่า ให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อการระงับเหตุด้วยความรวดเร็วลดการสูญเสีย

4. ช่วยดับไฟป่าและจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครป้องกันไฟป่า

 

 

 

การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 1
การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 2

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก: tktadventure.blogspot.com, kkp.ac.th, siamvolunteer.com


ที่มา: องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

วิดีโอบน YouTube http://youtu.be/8oFvEvD2fLA





แนะนำองค์ความรู้
มะม่วง

มะม่วง

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์ คือ นวลคำ ปาล์มเมอร์ อาร์ทูอีทู เออร์วิน


พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 3

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 3

กุหลาบพระนาม ควีนสิริกิติ์ เป็นลูกผสมระหว่างกุหลาบพันธุ์ Konigin der Rosen และ Gloden Giant ซึ่งลูกผสมใหม่เรียกเป็นสายพันธุ์ Perr Gynt


ปทุมมาและกระเจียว

ปทุมมาและกระเจียว

ปทุมมาและกระเจียว เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน


การปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80

การปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ชนิด พันธุ์ และการปลูกการดูแลรักษาสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน