This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 13 มิถุนายน 2555     อ่าน: 15,077 ครั้ง


ไส้เดือนดินกับการพัฒนาพื้นที่สูง


                                                                   ภาคภูมิ ดาราพงษ์  เรียบเรียงและรวบรวม


       
จากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ระบุว่าภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่สูงถึง 96,255 ตารางกิโลเมตรหรือ 64 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ มีประชากรชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ถึง 1.2 ล้านคน กระจายตัวอยู่ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตคงหนีไม่พ้นในเรื่องของความมั่นคงและยาเสพติด


       จนกระทั่งโครงการหลวงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการหลวงเพื่อ ลดการปลูกฝิ่นของชาวเขา พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวเขา เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร และในปี พ.ศ.2535 โครงการหลวงจึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมูลนิธิโครงการหลวงที่มีการดำเนินงานมุ่งการวิจัย พัฒนา เพื่อนำไปสู่การตลาด ด้วยปณิธานที่ว่า “โครงการหลวง   ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา  ช่วยชาวโลก ”


       จวบจนปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 40 ปี แล้วที่โครงการหลวงได้อยู่คู่กับพี่น้องชาวเขาบนพื้นที่สูงในการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิต ให้มีความอยู่ดีกินดี ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่มีการแข่งขันสูงทั้งการผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้น และการตลาด รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปัญหาสิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจและร่วมมือกันในการคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก คือ ปัญหาการกำจัดขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและชุมชน เช่น เศษอาหาร เศษผักและผลไม้ ฯลฯ ซึ่งหากนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการตามมาในภายหลัง เช่น แมลงวัน แหล่งเพาะเชื้อโรค กลิ่นเน่าเหม็น น้ำเน่าเสีย ปัญหาขยะล้นเมือง และที่สำคัญคือ ปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบกับคนทั่วโลก ดังนั้น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดการขยะอินทรีย์จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้และเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์ของมูลนิธิโครงการหลวง ก็คือ การใช้ไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินเพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อไปโดย รศ.อานัฐ  อานัฐ  ตันโช อาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง และท่านยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้


         
จะเห็นว่าจากความสำเร็จดังกล่าวสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) หรือที่เรารู้จักกันว่า สวพส.จึงได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ในพื้นที่สูงของประเทศโดยเฉพาะใน พื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง 27 แห่ง และพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง   หรือที่รู้จักกันในนาม ศศช.อีก 8 แห่ง


ความสำคัญของไส้เดือนดิน


        
ไส้เดือนดินถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าสัตว์ที่เป็นโทษต่อมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยช่วยพลิกกลับดิน ทำให้เกิดการผสมคลุกเคล้าแร่ธาตุในดิน อีกทั้งยังเป็นการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุอาหารต่างๆ อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพิ่มและกระจายจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพราะการชอนไชของไส้เดือนดินทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำ และอากาศดีขึ้น  ที่สำคัญไส้เดือนดินจัดเป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม (bio-index) ในการชี้วัดถึงการ ปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดิน เนื่องจากไส้เดือนดินมีไขมันที่สามารถดูดซับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางกลุ่มได้ ทำให้ไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัดถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในดินได้ดี


        
เราสามารถแบ่งประเภทไส้เดือนดินออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ไส้เดือนดินสีเทาหรือขี้คู้เป็นไส้เดือนที่มีลำตัวขนาดใหญ่ สีเทา ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว อาศัยอยู่ใต้ดิน ขุดรูอยู่ในชั้นดิน ค่อนข้างลึก พบได้ในสวนผลไม้ หรือในสนามหญ้า กินอาหารน้อย ผลิตถุงไข่น้อย 2. ไส้เดือนดินสีแดงหรือขี้ตาแร่ ลำตัวมีสีแดงออกม่วง มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-5 นิ้ว


       อาศัยอยู่บริเวณผิวดิน ในมูลสัตว์หรือ กองเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยที่มีความชื้นสูง กินอาหารเก่ง ผลิตถุงไข่มาก เหมาะสำหรับใช้ย่อยสลายขยะอินทรีย์


       ในปัจจุบันมีการจำแนกไส้เดือนดินทั่วโลกได้ 4,000 กว่าชนิด สายพันธุ์ที่นำมาใช้กำจัดขยะอินทรีย์ทางการค้ามีประมาณ 15 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในขยะอินทรีย์และมูลสัตว์ เช่น พันธุ์ Pheretima peguana หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ขี้ตาแร่”


          ในประเทศไทยมีสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่สามารถนำมาใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ สายพันธุ์ Pheretima peguana (ขี้ตาแร่) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปใต้กองมูลสัตว์ โดยเฉพาะในฟาร์มโคนม สายพันธุ์นี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถแพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตได้เร็วมาก และเมื่อนำมาเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ พบว่า สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ดีมากเช่นเดียวกับสายพันธุ์ทางการค้าอื่นๆ ดังนั้นการกำจัดขยะอินทรีย์ในประเทศไทย การเลือกใช้ Pheretima peguana (ขี้ตาแร่) จึงนับว่ามีความเหมาะสมมาก


          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการทดสอบและสาธิตเทคโนโลยีโครงการหลวง จึงมีแผนการสาธิตการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน-ดิน ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง จำนวน 27 พื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่จากการค้นคว้าวิจัยของโครงการหลวงไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติของเกษตรกรในท้องถิ่น และเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่ใกล้เคียงนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป  ปัจจุบันโครงการหลวงได้พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดินนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพืช ลดการปุ๋ยเคมีในการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืชผักและพืชผักอินทรีย์      อันจะนำไปสู่การผลิตพืชที่ปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกร  ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมต่อไป


         และจากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550-2554) สรุปได้ว่าไส้เดือนดินสีแดงหรือขี้ตาแร่พันธุ์ (Pheretima Peguana) ซึ่งสามารถเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ได้ในพื้นทีโครงการขยายผลโครงการหลวง 27 แห่ง และพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) อีก 8 แห่ง ตั้งแต่พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 – 1,200 เมตร สามารถผลิตน้ำหมักมูลไส้เดือนดินและปุ๋ยมูลไส้เดือนดินได้


        โดยน้ำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงต้นพืชและเพิ่มธาตุอาหารทางดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชในแปลงปลูกพืชของตนเองหรือชุมชนของตนเองได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการปลูกพืชอีกทางหนึ่งด้วย 


ไส้เดือนดินช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร


        ไส้เดือนดินนอกจากจัดเป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม (bio-index) ในการชี้วัดถึงการ ปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดินแล้วสิ่งที่ได้จากการย่อยสลายจากไส้เดือนดินก็คือน้ำหมักมูลไส้เดือนดินและปุ๋ยไส้เดือนดินซึ่งปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจัดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดชนิดหนึ่งเมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเกิดจากการที่ไส้เดือนดินกินวัสดุอินทรีย์ที่กำลังเน่าสลายแล้วขับถ่ายเป็นมูลออกมา โดยมูลจะมีลักษณะคล้ายกับดินที่มีสีดำเข้มเป็นเม็ดร่วน ทนทานต่อการชะล้างของน้ำ เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูก หรือใช้เพื่อปรับปรุงดิน เพราะปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง เนื่องจากไส้เดือน-ดินและจุลินทรีย์ในลำไส้ของไส้เดือนดินจะช่วยเปลี่ยนแปลงรูปธาตุอาหารพืชที่เป็นโมเลกุลใหญ่เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารพืชในรูปที่เป็นประโยชน์พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที และที่สำคัญปัจจุบันมีขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและการเกษตร เช่น เศษผัก ผลไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมเมื่อนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกวิธี แมลงวัน กลิ่นเหม็น เน่าเสีย ล้วนแล้วแต่เป็นผลของการสลายตัวของผักอินทรีย์ที่มีการจัดการแบบไม่ถูกวิธี การนำวัสดุต่างๆเหล่านี้ มาเป็นอาหารให้ไส้เดือนภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการนำสารอินทรีย์ในระบบการผลิตกลับมาใช้ใหม่ โดยจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงจำนวนมาก ,อานัฐ ตันโช (2550)


        นอกจากนี้หากเราจะมองปัญหาภาวะโลกร้อน(Global warming) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในสถานการณ์วิกฤติ เช่นนี้ จะเห็นว่าปัญหาเรื่องขยะโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งขณะนี้หลายๆประเทศได้เริ่มตื่นตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการใช้ไส้เดือนดินเพื่อการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างจริงจังก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากไส้เดือนดินจะเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนของเสีย(Waste) ไปอยู่ในรูปของน้ำหมัก (Water the compost worms) และปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน(Vermicompost) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผลลัพธ์จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อไปได้ นอกจากนี้ยังพบว่า มูลที่ไส้เดือนดินถ่ายออกมาสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงรักษาต้นไม้ได้ และกระบวนการย่อยขยะอินทรีย์ของไส้เดือนดินจะไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน ในขณะที่การกำจัดขยะอินทรีย์วิธีอื่นจะใช้เวลานาน บางวิธียังส่งผลให้เกิดมลภาวะและมีกลิ่นเหม็นอีกด้วย (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2547)


         
จากผลสำเร็จที่ รศ.อานัฐ  ตันโช  ได้คิดค้นและนำไปใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์กับทางมูลนิธิโครงการหลวง  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่สูงทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายผลโครงการหลวง และศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) จำนวน 35 แห่ง และจะขยายเครือข่ายการเรียนรู้และการนำองค์ความรู้เรื่องการกำจัดขยะอินทรีย์ไปสู่พื้นที่สูงอื่นต่อไป

------------------


เอกสารอ้างอิง

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2547. เร่งเพาะพันธุ์ ‘ไส้เดือนดิน’ ให้เทศบาลกำจัดขยะ. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547. [Online].


Available : http://www.ipst.ac.th/biology/Bio-Articles/mag-content37.html


อานัฐ  ตันโช. 2550. ไส้เดือนดิน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. ปทุมธานี.  259 หน้า.

ดาวน์โหลดเอกสาร




งานวิจัยอื่นๆ

สรุปผลการดำเนินงานวิจัย
รายการทรัพย์สินทางปัญญาของ สวพส.
แนะนำองค์ความรู้
ผักกาดหวาน

ผักกาดหวาน

ผักกาดหวาน (Cos Lettuce, Romain Lettuce) เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นกอ ลักษณะใบยาวรี ซ้อนกันเป็นช่อ ใบบางกรอบ รสชาติหวานกรอบเรียกว่า เบบี้คอส


มะม่วง

มะม่วง

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์ คือ นวลคำ ปาล์มเมอร์ อาร์ทูอีทู เออร์วิน


เสาวรส

เสาวรส

เสาวรสเป็นไม้ผลเขตร้อนชนิดเถาเลื้อย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามการใช้ประโยชน์ คือเสาวรสโรงงาน และเสาวรสรับประทานสด


วัฒนธรรมและลายผ้าทอคะฉิ่น

วัฒนธรรมและลายผ้าทอคะฉิ่น

ชาวคะฉิ่นอพยพจากทางใต้ประเทศทิเบตบริเวณต้นแม่น้ำอิระวดี และยังคงสือทอดวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน