This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 4 กันยายน 2555     อ่าน: 2,344 ครั้ง


 
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
จัดโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง

        สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง โดยจัดฝึกอบรมแก่เกษตรกรจำนวน 100 คน จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ณ โครงการขยายผลโครงการหลวงปางแดงใน อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการมลพิษหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตรในที่สูง ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เฝ้าระวังและมีแนวโน้มที่จะเกิดไฟ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการบริหารจัดการมลพิษ อันนำไปสู่ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผาต่อไป เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2555 นางสาวอาระยา นันทโพธิเดช รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเกษตรกรในโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง โดยมีนางเสาวนิตย์ พงษ์ประไพ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นางสาวพรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนแผนและประเมินผล กรมควบคุมมลพิษ ร่วมในพิธีเปิดงาน ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เชิงประจักษ์ ด้านการแก้ไขปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตรบนที่สูง ณ ชุมชนต้นแบบที่มีการดำเนินงานด้านการจัดการปัญหาหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีการจัดฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ประกอบด้วย

ฐานที่ 1 การปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่วโดยไม่ไถพรวนและไม่เผา
ฐานที่ 2 งานหัตถกรรม (ย้อมสีธรรมชาติ ฟื้นฟูไม้ให้สี แปรรูปผลิตภัณฑ์)
ฐานที่ 3 พืชอาหารท้องถิ่นและสมุนไพร
ฐานที่ 4 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ฐานที่ 5 การทำฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว)

        สำหรับพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ และน่าน ประสบกับปัญหาหมอกควัน ตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในบรรยากาศ ซึ่งอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐานหลายพื้นที่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในชุมชน การเผาในพื้นที่เกษตร การเผาวัชพืชริมทาง และไฟป่า ก่อให้เกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควัน ระบายออกสู่บรรยากาศ ส่งผลกระกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ บดบังทัศนวิสัยการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศ และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในปี 2555 ที่พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในทุกจังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง


ภาพบรรยากาศกิจกรรม

  
 
 




แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน