This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 27 มกราคม 2556     อ่าน: 2,307 ครั้ง



สวพส. ร่วมกับจังหวัดน่านรณรงค์ลดหมอกควันจากการเผา


        สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน
จัดกิจกรรมรณรงค์ลดหมอกควันจากการเผา ณ โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม บ้านนาหมัน ตำบลแม่จริม
อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 โดยได้รับเกียรติจากนายชุมพร แสงมณี ผู้ว่าราชการ
จังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้การ
ต้อนรับ  มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน คึกคักและสนุกสนานด้วยสาระความรู้ และของรางวัลมากมาย

        นายชุมพร แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวในพิธีเปิดว่า “จากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการตัด
ไม้ทำลายป่า การเผาป่า การเผาวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่างๆ ตลอดจนการใช้
สารเคมีในการเกษตร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเกิด
การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนของประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงมีความลาดชัน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ล้วนประกอบอาชีพ
การเกษตรเป็นหลักและทำการเกษตรโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การไถพรวนในพื้นที่ลาดชัน
การเผาเศษวัชพืช และการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชมากเกินความจำเป็น ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดผล
กระทบในวงกว้าง ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ”

        ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวต่อว่า “จังหวัดน่าน และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
โดยโครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบดังกล่าว จึงจัดงาน
วันรณรงค์ลดหมอกควันจากการเผาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการไถพรวน
ในพื้นที่ลาดชันการเผาเศษพืชและการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง และหันมาทำการเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาเศษพืชและวัชพืชต่างๆ มาทำเป็นคันปุ๋ยและทำเป็นปุ๋ยหมัก รวมทั้งนำมาคลุมโคนต้นพืช
เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน เป็นปุ๋ยและอาหารของพืช เมื่อมีสิ่งแวดล้อมที่ดีคนในชุมชนก็มีสุขภาพพลานามัยที่ดี
และสมบูรณ์แข็งแรง การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมพื้นที่โดยไม่เผาวัชพืชแล้ว
ยังมีกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดงาน เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชที่มีคุณภาพที่ดีและปลอดภัย เช่น
การให้ความรู้ในการใช้สารเคมี การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วโดยไม่เผา การปลูกถั่วเหลืองโดยใช้
ฟางข้าวหรือใช้ต้นข้าวโพดคลุมดิน การปลูกผักในโรงเรือนโดยใช้พื้นที่น้อยแต่ผลตอบแทนสูง การปลูกข้าว
ที่ใช้น้ำน้อย การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้โตเร็ว และการจัดแสดงนิทรรศการอื่นๆ  อีกมากมาย เพื่อให้เกษตรกร
สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป”
 
        ทางด้าน ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เผยว่า
“สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้นำองค์ความรู้จากผลสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวง
ไปขยายผลในชุมชนบนพื้นที่สูงต่างๆ อาทิ การสาธิตและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่
ลาดชัน ซึ่งผลที่ได้จากการปลูกข้าวโพดโดยวิธีการไม่ไถพรวนไม่เผาเศษพืช และเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว
เสริมด้วยการอนุรักษ์ดินด้วยแนวหญ้าแฝกตามแนวระดับ เป็นการลดต้นทุนการผลิต จากการไม่ไถพรวนดิน
ลดต้นทุนการกำจัดวัชพืช ตลอดจนเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น
จากปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมักที่ได้จากการไม่เผาเศษพืช และผลจากการทำการเกษตรด้วยวิธีการดังกล่าว โดยเฉพาะ
การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง จึงมีการขยายผลสำเร็จไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง และจะขยาย
ไปในวงกว้างต่อไป ซึ่งปัจจุบันพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน มีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 36,055 ไร่
มีพื้นที่ที่เผาก่อนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 24,000 ไร่ หลังจากการรณรงค์ครั้งนี้แล้ว คาดว่าจะมีพื้นที่
ที่ไม่เผาเหลือ 21,124 ไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพด”


ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ในงานรณรงค์ลดหมอกควันจากการเผา

1.    จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่ว เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษาวิธีการและนำไปปรับใช้
2.    สาธิตการนำเศษวัชพืช ต้นข้าวโพดมาทำเป็นคันปุ๋ยในแปลงปลูกข้าวโพดที่มีความลาดชัน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
3.    สาธิตการนำเศษวัชพืชและเศษผลผลิตการเกษตรที่เหลือจากการคัดคุณภาพมาทำกองปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองในพื้นที่ของเกษตรกร
4.    สาธิตการเลี้ยงไส้เดือนดิน และการนำน้ำหมักไส้เดือนดินมาใช้ในการปลูกพืชผัก
5.    รณรงค์ลดการใช้สารเคมี เช่น การตรวจคัดกรองโลหิต เพื่อหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย การสาธิตการใช้สารเคมีที่ถูกวิธี
6.    แปลงสาธิตการปลูกพืชผักที่ใช้ประโยชน์จากน้ำหมักไส้เดือนดิน และปุ๋ยหมักจากเศษพืชที่เกษตรกรดำเนินการในพื้นที่ของตนเอง

กิจกรรมในงาน
1.    เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องแนวทางการลดหมอกควันจากการเผาเศษพืช
2.    การตรวจกรองโลหิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร
3.    กิจกรรมการประกวดอาหารท้องถิ่น จากหวายและต๋าว        
4.    ประกาศผล การตรวจคัดกรองโลหิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่
5.    พิธีเปิดงาน โดย ผู้ว่าราชการ จังหวัดน่าน  กล่าวรายงาน นายอำเภอแม่จริม
6.    มอบของที่ระลึกให้ประธาน โดย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
7.    ประธานในพิธี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (ลุ่มน้ำน่าน) มอบพันธุ์พืชและสัตว์ในกับเกษตรกร
8.    ประธานและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ปลูกต้นองุ่นเป็นที่ระลึก
9.    ประธานและแขกผู้มีเกียรติ ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการและสาธิตกิจกรรมต่างๆ เช่น
      -    การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนและเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว
      -    การทำคันปุ๋ย โดย ใช้เศษวัชพืชและตอซังข้าวโพด
      -    การปลูกข้าวในระบบนาน้ำน้อย
      -    การสาธิตการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง
      -    การสาธิตการเลี้ยงไส้เดือนดินและการนำน้ำหมักมูลไส้เดือนดินมาใช้ในพืช
      -    การรณรงค์การลดการใช้สารเคมี
      -    การปลูกผักในโรงเรือน
      -    การสาธิตการปลูกสตรอเบอร์รี่ โดยใช้เศษวัชพืชคลุมแปลง
      -    การสาธิตการปลูกผักต่างๆโดยใช้เศษวัชพืชคลุมแปลง
      -    การสาธิตการปลูกถั่วเหลืองหลังนา
      -    การสาธิตการเพาะเห็ดฟาง โดย ใช้เศษวัสดุเศษใช้จากข้าโพดและฟางข้าว
      -    การสาธิตการปลูกกาแฟร่วมกับการปลูกป่าชาวบ้าน

 

   

 

 

   

 

   

   

   

   

  

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

   

 

 

 


ที่มา: นางสาวกัลยาณี วรรณศรี
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)





แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน