This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 6 มีนาคม 2556     อ่าน: 4,352 ครั้ง



โครงการขยายผลโครงการหลวงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ทำแนวกันไฟเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน


        สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน ได้แก่ โครงการขยายผลโครงการหลวงปางยาง โครงการขยายผลโครงการหลวงสะเนียน และโครงการขยายผลโครงการหลวงวังไผ่ จัดกิจกรรม “ทำแนวกันไฟเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน” ขึ้น เพื่อร่วมกันป้องกันความเสียหายจากไฟป่าที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ลดหมอกควันจากการเผาในพื้นที่เกษตรด้วย มีครูและนักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก โดยแต่ละพื้นที่ได้ช่วยกันทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชน–พื้นที่ทำกิน ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร

        นายวิชัย ปัตถมสิงหไชย ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (ลุ่มน้ำน่าน) เผยว่า “ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง มักเกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่า ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างมาก สาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควันที่สำคัญ คือ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเผาป่า เผาขยะ เผาตอซัง หรือการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงร่วมกับชุมชนในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จัดกิจกรรมทำแนวกันไฟเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมขึ้น พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการลดหมอกควันจากการเผา เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงอันตรายจากไฟป่าและการเผาทางการเกษตรด้วย เนื่องจากปัญหาของไฟป่าเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรป่าไม้ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยช่วงที่มีไฟป่ารุนแรงมักอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน การเกิดไฟป่าส่วนใหญ่มักเกิดจากมนุษย์ เช่น การจุกไฟเพื่อล่าสัตว์ การเผาไร่ การเดินหาของป่า ได้แก่  ผักหวาน ไข่มดแดง เห็ด เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ อาทิ ทำให้เกิดภัยแล้ง เนื่องจากดินเสื่อมคุณสมบัติทางกายภาพ ชั้นดินแบนทึบ รูพรุนของดินมีน้อย การดูดซับและอุ้มน้ำลดลง เมื่อฝนตก น้ำจึงซึมลงสู่ดินได้น้อยลง ทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ลดอัตราการเจริญเติบโตและคุณภาพของเนื้อไม้ และทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น อันนำไปสู่การเกิดภาวะเรือนกระจก เป็นต้น”

        ทางด้าน ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปี 2555 พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในทุกจังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงได้เร่งทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับการลดหมอกความจากการเผา โดยได้นำองค์ความรู้จากผลสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวงไปขยายผลในชุมชนบนพื้นที่สูงต่างๆ อาทิ การสาธิตและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ลาดชัน ซึ่งผลที่ได้จากการปลูกข้าวโพดโดยวิธีการไม่ไถพรวนไม่เผาเศษพืช และเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วเสริมด้วยการอนุรักษ์ดินด้วยแนวหญ้าแฝกตามแนวระดับ เป็นการลดต้นทุนการผลิต จากการไม่ไถพรวนดินลดต้นทุนการกำจัดวัชพืช ตลอดจนเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมักที่ได้จากการไม่เผาเศษพืช และผลจากการทำการเกษตรด้วยวิธีการดังกล่าว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง จึงมีการขยายผลสำเร็จไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง และจะขยายไปในวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

 

 

 

 


--------------------------------------------------------------

ที่มา: นางสาวกัลยาณี วรรณศรี
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง





แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน