This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 6 มีนาคม 2556     อ่าน: 4,232 ครั้ง



สวพส. ร่วมกับ อย. ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์และควบคุมการปลูกกัญชง


        สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และควบคุมการปลูกกัญชง (เฮมพ์) ครั้งที่ 2/2556 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยมีนายบุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานการประชุม และดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม

        ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เผยว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง แผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง และแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยเฮมพ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา  และปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยเป็นอันมาก ทั้งในด้านการพัฒนาพันธุ์ การเพาะปลูก ผลิตเมล็ดพันธุ์ และวิธีการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ภายใต้ระบบควบคุม ประกอบกับในการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมี ฯพณฯนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน ได้เร่งรัดให้มีการพิจารณาเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเฮมพ์ในเชิงพาณิชย์ด้วย”

        เฮมพ์ (Hemp) หรือที่เรียกกันว่า กัญชง เป็นพืชเส้นใยคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทานสูง เฮมพ์เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวเขามาก โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชนเผ่า จึงมีการเพาะปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทยมายาวนาน แต่ตามกฎหมายของไทยแล้ว เฮมพ์จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจาก เฮมพ์และกัญชา มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. เช่นเดียวกัน แต่มี subspecies แตกต่าง โดยเฮมพ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp.sativa ส่วนกัญชา (Marijuana) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. Subsp.indica (Lam.) E.Small&Cronquist ลักษณะภายนอกของพืชทั้งสองชนิดจึงไม่แตกต่างกันหรือมีความแตกต่างกันน้อยมากจน จำแนกได้ยาก

        จากลักษณะที่คล้ายคลึงกันทางพฤกษศาสตร์ ทำให้กัญชาและกัญชงมีการเรียกชื่อต่างๆกันออกไป มากมาย ซึ่งก็ยังมีความสับสนอยู่ โดยชาวบ้านนิยมเรียกพืชนี้ตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ โดยคำว่า “กัญชา” ใช้เรียกต้นพืชที่ใช้เป็นยาเสพติด ส่วนคำว่า “กัญชง” ใช้เรียกต้นพืชที่ใช้ประโยชน์ในการผลิตเส้นใยสำหรับถักทอ อย่างไรก็ตาม ยังนับว่าเฮมพ์เป็นพืชที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งปัจจุบันมีการแปรรูปเฮมพ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ
-    สิ่งทอ : เครื่องนุ่งหุ่ม เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า ผ้าพันคอ
-    ด้านการเกษตร : ทำปุ๋ย อาหารสัตว์
-    อาหาร : ผลิตอหารเสริม เครื่องดื่ม เช่น น้ำมันพืช แป้ง เนยเทียม ชีส อาหารเสริมสุขภาพ เบียร์ เป็น ต้น
-    เฟอร์นิเจอร์ : พรม เก้าอี้ โต๊ะรับแขก เป็นต้น
-    กระดาษ : ถุงชา กระดาษกรองกาแฟ กระดาษชำระ เป็นต้น
-    ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ : ครีมบำรุงผิว สบู่ แชมพู ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง ยา เป็นต้น
-    วัสดุก่อสร้าง : ส่วนผสมคอนครีต (Hempcrete ) ฉนวนกันความร้อน (Insulation) ไบโอพลาสติก บอร์ด ไฟเบอร์กลาส น้ำมันวานิชรักษาเนื้อไม้ สี วัสดุหีบห่อ เป็นต้น
-    อื่นๆ : ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อกันกระสุน

 

  

 

 

 

 

 

  


--------------------------------------------------------------

ที่มา: นางสาวกัลยาณี วรรณศรี
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง





แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน