โพสต์: 18 มีนาคม 2556 อ่าน: 6,669 ครั้ง
|
ชาวปะหล่องกับความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่
|
ในชีวิตของคนคนหนึ่งจะต้องเดินทางไกลและยาวนานสักเท่าไร จึงจะค้นพบดินแดนอันสงบสุข ดินแดนใดที่คนหนึ่งคนจะพร้อมยอมทิ้งทุกสิ่งที่คุ้นเคยในแผ่นดินเกิด เพื่อเสาะแสวงหาและใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุขที่นั่น เมื่อต้นปี 2556 ฉันมีโอกาสได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้รู้จักชาวเขาเผ่าปะหล่อง
ดินแดนเทือกเขาสูงในรัฐฉาน คือถิ่นอาศัยดั้งเดิมของชนชาติปะหล่อง หรือ ดาระอั้ง หนึ่งในบรรดาชนชาตินับร้อยในพม่า ดินแดนแห่งความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม บรรพบุรุษชาวปะหล่องใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผีในดินแดนพม่ามาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคนจนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยน ลุงคำ จองตาน ผู้นำหมู่บ้าน เล่าความหลังอันโหดร้ายให้ฟังว่า เมื่อทหารของขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่มาตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้านและทหารคอมมิวนิสต์บังคับให้ส่งเสบียงอาหาร ฝ่ายรัฐบาลพม่าจึงส่งกำลังเข้าปราบปราม ทำให้ชาวบ้านถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมากเพราะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนทหารกู้ชาติ นอกจากนั้นยังยึดสัตว์เลี้ยงและของมีค่าไปทั้งหมด เผายุ้งข้าว ข่มขืนผู้หญิง และบังคับผู้ชายให้ไปเป็นลูกหาบขนอาวุธเสบียงอาหาร บางคนถูกทารุณเพื่อบังคับให้บอกฐานที่ตั้งของทหารกู้ชาติไทยใหญ่และทหารคอมมิวนิสต์ เมื่อต้องเผชิญกับภัยสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหายาเสพติดในพม่า ชาวปะหล่องจำนวนมากจึงพากันอพยพหลบหนีข้ามแม่น้ำสาละวินลัดเลาะมายังชายแดนฝั่งไทยในปี พ.ศ. 2511 แล้วระเหเร่ร่อนย้ายถิ่นฐานเรื่อยมาจนตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ปัจจุบันหมู่บ้านชาวปะหล่องเป็นพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
|
|
แม้อาศัยอยู่ห่างไกลถิ่นฐานบ้านเกิดสักเพียงใด ชาวเขาเผ่าปะหล่องยังคงรักษาภาษา วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมไว้ได้อย่างเคร่งครัด สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดเมื่อเดินเข้ามาในหมู่บ้านนี้ คือวัฒนธรรมการแต่งกายของหญิงชาวปะหล่อง ตัวฉันเองยังอดไม่ได้ที่จะหยุดจ้องมองเครื่องแต่งกายสีสันฉูดฉาดสวยงามกว่าชนเขาเผ่าอื่นๆ สาวชาวปะหล่องสวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ผ่าหน้า เอวลอย ประดับด้วยเหรียญเงินมากน้อยตามใจชอบ นุ่งซิ่นตีนจกทอเอง มีริ้วลายขวาง ยาวกรอมเท้า โพกศีรษะด้วยผ้าผืนยาว ออกจะวาบหวิวไปสักนิด ถ้าจะชี้ชวนให้ดูบั้นเอวของสาวๆ ชาวปะหล่องซึ่งสวมสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผู้สาวเผ่านี้ สิ่งนั้นคือ "หน่องว่อง" เป็นห่วงหวายลงรักแกะลาย บ้างใช้เส้นหวายเล็กๆ ย้อมสีถักเป็นลาย บางคนใช้โลหะสีเงินเหมือนแผ่นสังกะสีนำมาตัดเป็นแถบยาวตอกลาย และขดเป็นวงสวมใส่ปนกัน หญิงชาวปะหล่องจะสวม "หน่องว่อง" ตลอดเวลา ยายเฒ่าคนหนึ่งยิ้มฟันดำเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ห่วง "หน่องว่อง" เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นลูกหลานนางฟ้า มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่ามีนางฟ้าชื่อ "หรอยเงิน" ลงมาเล่นน้ำในเมืองมนุษย์ แต่โชคร้ายไปติดแร้วของพวกมูเซอ ทำให้กลับสวรรค์ไม่ได้เลยต้องอยู่บนโลกมนุษย์และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวปะหล่อง ผู้หญิงจึงต้องสวม "หน่องว่อง" ตลอดเวลาเพื่อระลึกถึงนางฟ้าหรอยเงิน ชาวปะหล่องเชื่อกันว่า การสวม "หน่องว่อง"จะทำให้มีความสุขและเป็นสิริมงคล เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ หญิงชาวปะหล่องจึงสวม "หน่องว่อง" ติดตัวตลอดเวลาแม้ในเวลานอน ฟังแล้วคล้ายวรรณกรรมท้องถิ่นทางภาคใต้เรื่องพระสุธน-มโนห์รา จะว่าไป ไม่ว่าภาคเหนือภาคใต้ จะไทยหรือพม่า เราล้วนมีพื้นฐานความเชื่อและศรัทธาไม่ต่างกันนัก
ชาวปะหล่องยึดถือคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด มีประเพณีพื้นบ้านที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้นโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง มีพิธีกรรมหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานและน่าชื่นชม คือประเพณีสืบชะตาน้ำหรือเรียกให้เข้าใจง่ายว่าเป็นการทำความสะอาดแหล่งน้ำ ถือเป็นกุศโลบายหนึ่งในการรักษาป่าและต้นน้ำลำธาร ชาวเขาเผ่านี้มีวิถีชีวิตอย่างพอเพียง ปราศจากอบายมุข หาเลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ และสินค้าหัตถกรรมอย่างที่เราเรียกว่าแฮนด์เมด การท่องเที่ยวก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะทำเลที่ตั้งอยู่บนดอย อากาศบริสุทธิ์และเย็นสบาย มีบริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และศึกษาวัฒนธรรมของชาวปะหล่อง นักท่องเที่ยวเริ่มมีเข้ามามากขึ้น แต่เพราะชุมชนชาวเขาเผ่าปะหล่องมีความสามัคคีกัน มีจิตสำนึกรักและหวงแหนชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน การท่องเที่ยวจึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าปะหล่อง
|
|
กว่าสี่สิบปีที่ชาวปะหล่องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ดิ้นรนจนได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549 พวกเขายังคงรักษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะต่อสังคมวัฒนธรรมใดก็ตาม แม้จะรอดพ้นเงื้อมมือจากภัยสงคราม ฉันอดหวั่นใจไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวจะกลายเป็นดาบสองคมมาทำร้ายชาวเขาเผ่านี้เข้าสักวัน ได้แต่หวังว่า วัฒนธรรมเมืองที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาผ่านการท่องเที่ยวและทางโทรทัศน์ที่เคยกลืนกินวัฒนธรรมเก่าแก่ในหลายๆ ที่ทั่วโลกมานักต่อนักแล้วนั้น จะชะลอตัวให้ช้าที่สุด และพ่ายแพ้ต่อความงดงามและความบริสุทธิ์สะอาดของชาวปะหล่อง ณ ที่แห่งนี้
มื้อกลางวันฉันได้ชิมผักสดที่เก็บจากสวน ผัดผักใบเขียวมาพร้อมกับไข่เจียว แกงฟักทอง น้ำพริกถั่วเน่ากับข้าวสวยร้อนๆ เท่านี้ก็อร่อยจนลืมตัวจัดไปเบาๆ สองจานย่อมๆ สำเร็จไปหนึ่งอิ่ม ก่อนออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านและพูดคุยกับชาวบ้านที่นั่งทำงานอยู่หน้าบ้านและกับเด็กๆ ที่วิ่งเล่นคลุกดินคลุกฝุ่นอยู่ละแวกนั้น
|
|
สภาพบ้านเรือนของพวกเขาไม่ได้แตกต่างไปจากที่พักอาศัยของชาวเขาเผ่าอื่นๆ เท่าไรนัก แต่ภาพที่น่าแปลกใจและตื้นตันที่สุดคือ มีรูปในหลวงแขวนอยู่บนฝาบ้าน แทนที่จะเป็นรูปผู้นำประเทศหรือผู้นำทางจิตวิญญาณของเขาเอง ลุงคำเล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและด้วยความภาคภูมิใจว่า “การที่เราได้อาศัยอยู่ที่นี่ ได้อยู่บนผืนแผ่นดินไทยก็เป็นบุญแล้ว การที่เราได้ทำมาหากินเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ที่เราได้กิน ได้มีที่อยู่ที่นอน แค่นี้ก็เป็นบุญวาสนาที่เราได้อยู่ใต้พระบารมีของท่านแล้ว แถมเรายังได้ทำงานอย่างถูกต้อง เราได้พออยู่พอกิน ไม่เหมือนกับที่เราเคยหนีหัวซุกหัวซุน เข้าป่าเข้าดอย ต้องหนีทหารต้องหนีการสู้รบ มันเดือดร้อนเหมือนเรากำถ่านไฟแดงเอาไว้ในมือ ทีนี้ เราได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว ถ้าพูดถึงความซาบซึ้ง ทุกคนซาบซึ้งมากอยู่แล้ว มันไม่รู้จะพูดยังไง จากแต่ก่อน ชาวบ้านเขาก็ทำมาหากิน ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น หลังจากที่ผู้นำเราแต่ก่อนเคยได้เข้าเฝ้าในหลวง ขอมาอาศัยอยู่แถวๆ ตามแนวชายแดนแถวนี้ ในหลวงก็อนุญาต แล้วก็มีโครงการหลวงมาช่วยส่งเสริม ตอนแรกก็มาปลูกไม้ผลไม้อะไรต่างๆ ทดลองก่อน พอเริ่มเข้าใจแล้วก็เริ่มทำเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จนฝิ่นหรือว่าอะไรต่างๆ ลดลงเรื่อยๆ ถึงตอนนี้จะให้เขาไปปลูกฝิ่นกันเขาก็ไม่ไปแล้ว มันยุ่งยากลำบาก อยู่แบบนี้ทำงานแบบนี้ดีกว่า สบายใจด้วย ลุงก็ไม่รู้หรอกว่าโครงการหลวงเกิดขึ้นเพราะชาวเขาหรือเปล่า แต่คิดว่าโครงการหลวงเป็นตัวแทนของในหลวงที่มาช่วยเรา ให้เราได้ทำงาน ช่วยให้เรามีที่อยู่ที่ทำกิน ให้เราอยู่ได้”
พอถามชาวปะหล่องว่าความสุขของพวกเขาคืออะไร คำตอบง่ายๆ ที่ทำให้ฉันเผลอยิ้มออกมาทันทีคือ “การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว ได้กินข้าวด้วยกัน ไม่ต้องเข้าไปทำงานในเมือง ตื่นมามีงานทำ ไม่ต้องไปขอใครเขากิน ไม่ต้องหนีใคร” อีกคนตอบแบบไม่ต้องคิดว่า “ดูทีวี” บ้านไหนฐานะดีหน่อยมีทีวี ชาวบ้านก็ได้มานั่งล้อมวงดูทีวีด้วยกัน “ทุกคนรอบตัวเป็นคนดี” เท่านี้ก็สุขมากแล้ว วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงของชาวปะหล่อง ไม่ต้องการสิ่งปรุงแต่งมากมายนอกจากปัจจัยสี่ ไม่ยึดติดในสิ่งที่มี ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่มีแบบนี้ คงเพราะหลังจากที่ผ่านปัญหาอันหนักหนาสาหัสมาได้ พวกเขาก็เข้าใจและรู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นแสนจะเรียบง่ายและอยู่รอบๆ ตัวเขาเอง
|
|
ความสุขง่ายๆ แบบนี้ทำไมถึงได้เหมือนกับความต้องการของมนุษย์เงินเดือนบ้านนอกคนนึงที่นั่งอยู่แถวๆ นี้ขนาดนี้นะ? มันทำให้ฉันนึกเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอันแสนรีบร้อนวุ่นวายของคนเมืองที่ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้ ทำงานหนักเป็นเครื่องจักรแลกเม็ดเงินที่ยิ่งมากยิ่งมีความสุข ดำเนินชีวิตอยู่บนความอยาก หลงไปว่าของใหม่จะบันดาลความสุขได้มากกว่าของที่เรามีอยู่แล้วในมือ แล้วก็อยากมี อยากเป็น อยากไปหมดไม่รู้จบ ถ้าเราทำให้ได้อย่างชาวปะหล่องที่ยึดหลัก อิ่มเดียวหลับเดียว ตามพระพุทธวจนะ โลภให้น้อย ใจจะนิ่งแล้วจะเห็นว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง
ประสบการณ์หลายอย่าง เราเรียนรู้ได้จากความสำเร็จและความผิดพลาดของชีวิตคนอื่น โชคดีที่ฉันไม่ต้องหนีภัยสงครามไปหาดินแดนใหม่อย่างชาวปะหล่อง มีครอบครัว มีงานทำ สุดท้ายก็ได้คำตอบแล้วว่า ไม่ว่าจะออกเดินทางไปไกลสักเพียงใด สำหรับฉัน ดินแดนแห่งความสุขอันสงบงามที่สุดนั้น อยู่ในใจที่ไม่ยึดติดของเราเอง ชีวรัตน์ แก้วแสงขวัญ
|
|
|
----------------------------------------------------- บทความโดย: โดย ชีวรัตน์ แก้วแสงขวัญ Junior Program Officer มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์)
19 มกราคม 2556 หมู่บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขออนุญาตนำชื่อหนังสือ "ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่" ของ หนุ่มเมืองจันท์ มาประกอบชื่อเรื่องนี้ค่ะ
|
แท็ก: กิจกรรม สวพส.