โพสต์: 2 เมษายน 2556 อ่าน: 2,007 ครั้ง
|
เจ้าหน้าที่ สวพส. เข้าร่วมประกอบพิธีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
|
คณะเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เข้าร่วมประกอบพิธีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนาย ฤทธิพงศ์ เตชะพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือ กงสุลต่างประเทศ ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ทหาร และข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนพสกนิกรของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556 พิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ การถวาย เครื่องราชสักการะ พิธีลงนามและกล่าวถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" เมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรี สิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระปรีชาสามารถในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลป วัฒนธรรมของประเทศ จากพระราช-กรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรง ประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริ ส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลอย่าง สมบูรณ์
|
|
ที่มา: นางสาวกัลยาณี วรรณศรี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
|
แท็ก: กิจกรรม สวพส.