This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 1 กรกฎาคม 2556     อ่าน: 2,406 ครั้ง



นาเพื่อป่า-ป่าเพื่อน้ำ: การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่บ้านขุนตื่นน้อย


        โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนามาตรการเศรษฐศาสตร์และสังคมในการสร้างแรงจูงใจแก่ชุมชนบนพื้นที่สูงในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ และโครงการวิจัยและพัฒนาพืชอาหารหลักของชุมชนบนพื้นที่สูง ร่วมกับโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านขุนตื่นน้อย ร่วมจัดการสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีของชุมชนและการปลูกป่าในพื้นที่ข้าวไร่เดิม ระหว่างวันที่ 19 - 20 มิถุนายน 2556 ณ บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

        การสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีของชุมชนในครั้งนี้ เป็นการทดลองเพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่บริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตข้าวบนพื้นที่สูงที่ลดลง คือเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการปนพันธุ์ในการเพาะปลูก ดังนั้น โครงการวิจัยจึงมุ่งเน้นการปลูกข้าวต้นเดียว (1 ต้นต่อ 1 หลุม) โดยปลูกเป็นแถวเป็นแนวระยะ 30 ซม. x 30 ซม. เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวของครัวเรือนจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี การทดลองในครั้งนี้เน้นการดำเนินการร่วมกับเกษตรกรในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนการทำนาขั้นบันไดใหม่
      
        การดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ของชนเผ่ากะเหรี่ยงในระบบไร่หมุนเวียนที่บ้านขุนตื่นน้อย มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 6-7 แปลงๆ ละประมาณ 10 ไร่ โดยเกษตรกรกลับมาปลูกข้าวไร่ซ้ำในพื้นที่เดิมทุก 6-7 ปีขึ้นอยู่กับจำนวนแปลงที่เกษตรกรใช้ โดยเฉลี่ยเกษตรกรใช้พื้นที่สำหรับปลูกข้าวทั้งหมด ครัวเรือนละ 70 ไร่ โครงการวิจัยได้ทดลองจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวนาน้ำน้อยขนาดพื้นที่ 3.5 ไร่ สำหรับครอบครัวของนางต่อเด ริพอ เพื่อลดการใช้พื้นที่ปลูกข้าวไร่ซึ่งใช้มากกว่าข้าวนาประมาณ ๖ เท่าตัว การปลูกป่าในครั้งนี้ปลูกในพื้นที่ของนางต่อเด ริพอ อายุ 60 ปี เกษตรกรบ้านขุนตื่นน้อย ที่ใช้ปลูกข้าวไร่ในปี พ.ศ.2555 มีพื้นที่ทั้งหมด 14 ไร่ 3 งาน ซึ่งเป็น 1 ใน 8 แปลงที่ใช้ปลูกข้าวไร่ การส่งมอบพื้นที่ให้ชุมชนเพื่อเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “นาเพื่อป่า” โดยแปลงที่ส่งมอบให้ชุมชนเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับป่าอนุรักษ์ของชุมชน การเจรจาการส่งมอบพื้นที่สำเร็จได้ด้วยบทบาทของผู้นำชุมชนบ้านขุนตื่นน้อย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มพื้นที่ป่าเพราะ “ป่าคือแหล่งต้นน้ำ” ผู้นำมีความเห็นว่าการดูแลรักษาป่าที่ปลูกใหม่ เช่น การทำแนวกันไฟ ในแปลงที่อยู่ติดกับป่าอนุรักษ์เดิมสามารถจัดการได้ง่ายมากกว่าการปลูกป่ากระจายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ผู้เข้าร่วมการปลูกป่าประกอบด้วย ผู้นำ กลุ่มเยาวชน เกษตรกรบ้านขุนตื่นน้อย ครูโรงเรียน ศศช.บ้านขุนตื่นน้อยและบ้านปิพอ เจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่เทย พนักงานสาธารณสุขประจำสถานบริการสาธารณสุขบ้านขุนตื่นน้อย และ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)  

        โครงการวิจัยและโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านขุนตื่นน้อย ได้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวและการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้เพื่อเป็นฐานทรัพยากรที่มั่นคงของชุมชนต่อไป

 

 

 

----------------------------------------------------------

ที่มา: เกษราภร  ศรีจันทร์ และจันทร์จิรา รุ่งเจริญ

สำนักวิจัย





แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน