This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 1 พฤศจิกายน 2556     อ่าน: 2,386 ครั้ง



ข้าวต้นเดียว: การคัดเลือกพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวที่บ้านขุนตื่นน้อย


        โครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดของข้าวบนพื้นที่สูง สำนักวิจัย และโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านขุนตื่นน้อย สำนักพัฒนา ร่วมจัดกิจกรรมการสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีของชุมชนในวันที่ 23 ตุลาคม 2556 ณ บ้านขุนตื่นน้อย ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

        สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตข้าวบนพื้นที่สูงลดลง คือเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการปนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพต่ำในการเพาะปลูก โครงการวิจัยจึงมุ่งศึกษาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์และมีคุณภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวของครัวเรือนจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี โดยในเดือนมิถุนายน 2556 ได้ทดสอบการปลูกข้าวต้นเดียว (1 ต้นต่อ 1 หลุม) โดยปลูกเป็นแถวเป็นแนวระยะ 30 ซม. x 30 ซม. ในระบบนาน้ำน้อย ในพื้นที่โครงการขยายผลฯ ขุนตื่นน้อยจำนวน 5 แปลง ประกอบด้วยนาขั้นบันไดใหม่ 4 แปลง และแปลงนาเดิม 1 แปลง เพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดีสำหรับในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป การจัดกิจกรรมสาธิตได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสาบันสำรวจพืชเสพติด สำนักงาน ปปส. ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับอำเภออมก๋อย กล่าวเปิดงาน และมีผู้นำชุมชนและเกษตรกรจากหย่อมบ้านขุนตื่นน้อย ปิพอ และมะแตะแหละกุย เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 52 คน การจัดกิจกรรมสาธิตในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้างความเชื่อมั่นในวิธีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีด้วยการปลูกข้าวต้นเดียว ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรไม่คุ้นเคย เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกข้าวด้วยกล้าจำนวน 5-6 ต้นต่อหลุมเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีผลผลิตมาก

        ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ นักวิชาการ สำนักวิจัย ได้อธิบายเน้นย้ำความสำคัญของการคัดเลือกพันธุ์ข้าว และได้แสดงให้เกษตรกรเห็นว่าการปลูกข้าวต้นเดียวสามารถแตกหน่อได้ดีเท่ากับหรือมากกว่าการปลูกข้าวด้วยกล้าหลายต้น ผลการทดสอบพบว่ากล้าต้นเดียวผลิตหน่อใหม่ในแปลงนาขั้นบันไดใหม่จำนวน 11-14 หน่อ และในแปลงนาเดิมจำนวน 20-28 หน่อ สิ่งสำคัญที่สุดการปลูกข้าวต้นเดียวคือทำให้เกษตรกรสามารถคัดเลือกพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการใช้ปลูกได้อย่างสะดวก เนื่องจากสามารถแยกแยะคุณลักษณะของข้าวที่งอกจากเมล็ดเดียวได้ง่ายกว่าการปลูกด้วยกล้าหลายต้น

        หลังจากนั้นเกษตรกรที่ร่วมในแปลงทดสอบทั้ง 5 ราย เล่าถึงประสบการณ์ของการปลูกข้าวต้นเดียว ที่ส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในการปลูกระยะเริ่มแรก เกษตรกรบางรายยิ่งเพิ่มความลังเลเมื่อเพื่อนบ้านตั้งคำถามา “แม้ปลูกด้วยกล้าหลายต้นยังไม่พอกิน การปลูกต้นเดียวจะมีความหวังหรือ” แต่เมื่อพบว่าข้าวในแปลงนาของตนสามารถแตกหน่อได้ดี มีความเห็นว่าจะใช้เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวต้นเดียวในระบบนาน้ำน้อยในปีต่อไป และจะชักชวนให้ญาติพี่น้องได้ทดลองนำวิธีการคัดพันธุ์ไปใช้

        งานวิจัยในระยะต่อไปจะเก็บเกี่ยวแยกลักษณะพันธุ์ข้าวในแปลงทดสอบร่วมกับเกษตรกรเพื่อลดการปนพันธุ์ และตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวว่ามีการปนพันธุ์มากน้อยเท่าไหร่ หลังจากนั้นในฤดูนาปี 2557 จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกและผลิตได้ในปี 2556 มาปลูกต่อ และตรวจสอบผลผลิตข้าวที่ได้จากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกโดยเกษตรกรเอง

 

 

 

 

------------------------------------------------

ที่มา: เกษราภร  ศรีจันทร์ และจันทร์จิรา รุ่งเจริญ
ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนและการจัดการระบบนิเวศ
ในพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงขุนตื่นน้อย สำนักวิจัย





แท็ก: กิจกรรม สวพส.    

กิจกรรมอื่นๆ


ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน