โพสต์: 6 สิงหาคม 2558 อ่าน: 858 ครั้ง
|
ผลการเสวนา “การใช้น้ำอย่ารู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ วันที่ 3 สิงหาคม 2558
|
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2558 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมในงานจะมีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ในวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องสักทอง อุทยานหลวงราชพฤกษ์
วัตถุประสงค์ในการจัดเสวนา 1. เพื่อให้สาธารณชนรับทราบและเข้าใจสถานภาพการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยปีล่าสุด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่สำคัญ 2. เพื่อให้หน่วยงานร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ กำหนดประเด็นงานวิจัยที่ต้องดำเนินการ นำไปสู่การกำหนดนโยบายและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ 3. เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำระหว่างฝ่ายนโยบาย ปฏิบัติ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและลดการขัดแย้ง
คณะวิทยากร ประกอบด้วย 1. นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บรรยายในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ 2. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน บรรยายในหัวข้อ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร 3. นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บรรยายในหัวข้อ องค์กรการบริหารจัดการน้ำและ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ 4. รศ. ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน 5. รศ. ดร. เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผลการเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิโครงการหลวง บริษัทเอกชน สื่อมวลชน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และประชาชนทั่วไป จำนวน 139 คน โดยมีผลการเสวนา ดังนี้ 1. นโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า คือ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิต การส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การปลูกอ้อยแทนข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง (แบบประหยัดน้ำ) ปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ให้พิจารณาตลอดกระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด และการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานของราชการ ( public private partnership – ppp ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ และที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกษตร คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่เชื่อมโยงทุกยุทธศาสตร์ โดยให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงการที่ถ่ายโอนให้ อปท. การพยากรณ์เตือนภัยที่แม่นยำ การวิจัยและพัฒนาส่งเสริมการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำ 20 % และเพิ่มผลผลิต 15 % เพื่อให้เป็นการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า และการจัดให้มีคณะกรรมการจัดการชลประทาน ( Joint Management Committee for Irrigation – JMC ) ที่มี อปท. องค์การผู้ใช้น้ำ และหน่วยงาน เป็นองค์ประกอบทำหน้าที่จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ร่วมกันกำหนด 3. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) และต่อมารัฐบาลจัดตั้ง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำร่วมเป็นกรรมการอีกจำนวน 6 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมและให้จัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนปฏิบัติการในภาพรวม 4. เพื่อให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สามารถบริหารจัดการและสั่งการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 และสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งจะมีการตั้งสำนักงาน กนช. และสำนักงานคณะกรรมการลุ่มน้ำภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารจัดการงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. และคาดว่าจะมีการเพิ่มเติมเรื่องกองทุนน้ำ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ 5. สำหรับแนวความคิดในการตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อลดการซ้ำซ้อนของหน่วยงาน สามารถบริหารจัดการโดยปรับภารกิจของหน่วยงานก่อน ประกอบกับการบริหารจัดการต้องคำนึงถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับเรื่องน้ำ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งกระทรวงน้ำในขณะนี้ 6. เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่สามารถรับทราบและแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้ทันท่วงที ชุมชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับภาครัฐ และช่วยลดการขัดแย้งได้ โดยการมีข้อมูล เครื่องมือ และกระบวนการทางสังคม มีระบบสนับสนุนการตัดสินใจและการสร้างเครือข่ายในการจัดทำข้อตกลงและกติกาการใช้น้ำร่วมกัน ซึ่งอาจจะเรียกว่า “แผนน้ำชุมชน” มีการทำบัญชีน้ำรายแปลง การใช้แผนที่ GIS กำหนดพื้นที่ขาดน้ำและการวางแนวท่อส่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำเป็นกลุ่ม การนำเสนอโครงการเชื่อมโยงกับแผนชุมชน แผน อบจ. เพื่อให้ได้งบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งจากบทเรียนเห็นว่าควรส่งเสริมการสร้างศักยภาพบุคลากรและองค์กรชุมชน และมีความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน อปท. และหน่วยงานในการตัดสินใจ อาจต้องพิจารณาด้านทรัพยากรดิน น้ำ เศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กันไป เพื่อลดการขัดแย้งระหว่างชุมชน
ข้อเสนอแนะจากผลการสัมมนา 1. หากรัฐบาลโดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒน์ กำหนดเป้าหมายผลผลิตข้าวในปี พ.ศ. 2563 เป็น 33 ล้านตัน แล้วการบริหารจัดการน้ำจะได้กำหนดแผนการจัดการน้ำได้มีความสมดุลระหว่างความต้องการน้ำและการจัดการน้ำได้ชัดเจน 2. จากผลการศึกษาวิจัยในการปลูกข้าว ใช้น้ำน้อยลง 20 % และเพิ่มผลผลิตได้ 15 % ซึ่งหากส่งเสริมได้ก็จะลดพื้นที่ปลูกข้าวได้ 30 % ที่จะสามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ลดการใช้น้ำ และได้ผลตอบแทนสูงได้ จึงควรคัดเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกในลักษณะเช่นนี้ หรืออาจไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายพื้นที่ชลประทาน 3. ในการที่หน่วยงานจะเข้าไปปรับปรุงโครงการชลประทาน หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ถ่ายโอนให้ อปท. ไปแล้ว อาจจะติดขัดกฎหมายการกระจายอำนาจ จึงอาจดำเนินงานร่วมกันระหว่าง อปท. และหน่วยงาน โดยใช้งบประมาณถ่ายโอนของ อปท.เอง หรือการโอนงบประมาณจากหน่วยงานให้ อปท.เพิ่มเติม 4. ในการที่จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้ผลตอบแทนสูง ควรทำเมนูทางเลือกแสดงชนิดพืช ปริมาณน้ำที่ใช้ กำไรสุทธิที่ได้รับต่อปี ข้อจำกัดแรงงาต่อหน่วยพื้นที่ ความเสี่ยงทางการตลาด เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจเอง 5. ขณะนี้มีคณะกรรมการจัดการชลประทานมีภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการชลประทาน แต่ควรมีคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีผู้แทนของภาคประชาชนเป็นกรรมการ เพื่อการจัดสรรน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำ 6. การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน จะสนองความต้องการของชุมชนได้ตรงกับปัญหาและรวดเร็วขึ้น โดยต้องมีข้อมูล มีแผนที่ มีการวางแผน มีระบบการตัดสินใจ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน และความสอดคล้องกับแผนชุมชน แผนจังหวัด เพื่อให้ได้งบประมาณ และควรพิจารณาเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กันไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นปราชญ์แห่งน้ำ 2. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำและการเกษตรที่เป็นปัจจุบัน และตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของน้ำ 3. ก่อให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือในการผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 4. ก่อให้เกิดประเด็นและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขั้น
|
|
|
|
|
|
|
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ที่มา: อุทยานหลวงราชพฤกษ์
|
แท็ก: กิจกรรม สวพส.