โพสต์: 12 กรกฎาคม 2555 อ่าน: 21,393 ครั้ง
|
ระบบการเพาะปลูกที่ดี (ไม้ผล)
Good Agricultural Practice
|
การปลูกไม้ผลเป็นอาชีพสำคัญ ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยได้ดำเนินวิจัยและพัฒนาการปลูกไม้ผล จากนั้นนำผลสำเร็จที่เป็นเทคโนโลยีและองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร ให้สามารถปลูกไม้ผลให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานและมีผลตอบแทนที่ดี
ระบบการเพาะปลูกที่ดี(GAP) เป็นระบบการผลิต ที่มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และกรมวิชาการเกษตร ได้นำมาใช้ในการพัฒนาการผลิตไม้ผลตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อให้ ผลผลิตไม้ผลมีคุณภาพตามมาตรฐาน และความปลอดภัย ทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดแข็งให้แก่ผลิตผลและสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันทางการค้า ทั้งผลผลิตจากในประเทศและจากต่างประเทศอันเป็นผลจากการค้าเสรี
การเพาะปลูกที่ดี (GAP)
คือแนวทางการปฏิบัติในไร่นา เพื่อผลิตสินค้าปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร โลหะหนัก ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นการเน้นวิธีการควบคุมและป้องกันการเกิดปัญหาในกระบวนการผลิตมากกว่าการแก้ไข
ข้อกำหนดของระบบ GAP ประกอบด้วย
1. แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์
2. พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์ที่จะทำให้เกิดการตกค้าง หรือปนเปื้อนในผลิตผล
3. การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ผลิตผลได้คุณภาพ - ปฏิบัติจัดการตามแผนควบคุมการผลิต - คัดแยกผลิตผลที่ด้อยคุณภาพไว้ต่างหาก
4. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร - หากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ให้ใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการสารเคมีที่ประกาศให้ใช้ - ห้ามใช้วัตถุอันตรายที่ระบุในทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามใช้
5. การผลิตให้ปลอดศัตรูพืช ให้สำรวจการเข้าทำลายของศัตรูพืชและทำการป้องกันกำจัดเมื่อตรวจพบความเสียหาย ถ้าพบการทำลายของศัตรูพืช ต้องคัดแยกผลผลิตไว้ต่างหาก
6. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว - เก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนควบคุมการผลิต - อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว และภาชนะบรรจุต้องสะอาด ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนการปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค
7. การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลภายในแปลง - สถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดีและสามารถป้องกันการปนเปื้อนของวัตถุแปลกปลอม วัตถุอันตรายและสัตว์พาหะนำโรค - อุปกรณ์และพาหนะในการขนย้ายต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค และต้องขนย้ายผลผลิตอย่างระมัดระวัง
8. การบันทึกข้อมูล เกษตรกรทำการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อันตรายทางการเกษตร บันทึกการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
|
<<< อ่านต่อทั้งหมด คลิกเลยค่ะ >>>
|