This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 4 ธันวาคม 2558     อ่าน: 147,975 ครั้ง


 


องุ่น


ชื่อวิทยาศาสตร์:
Vitis vinifera


องุ่นไม่มีเมล็ด-องุ่นดำ เขียว แดง Seedless grape

        องุ่นเป็นไม้ผลชนิดเถาเลื้อยที่มีอายุยานานหลายปี สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิอากาศหลายแบบ แต่องุ่นที่ปลูกในภาพที่มีอากาศหนาวเย็น จะมีคุณภาพสูงกว่า องุ่นเป็นไม้ผลวงศ์ Vitacea สกุล Vitis มีหลายชนิด แต่พันธุ์ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชนิด Vitis vinifera มีถิ่นกำเนิดในเอเซียที่มีอากาศอบอุ่น อุณหภูมิ 10-20 องศาเซลเซียส หรืออยู่ระหว่างเส้นแวง (latitute) ที่ 20๐และ 51๐ เหนือ และ 20๐ และ 40๐ ใต้ แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในเขตอากาศกึ่งร้อนถึงร้อน สำหรับประเทศไทยเชื่อว่านำเข้ามาปลูกในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปี พ.ศ.2493 หลวงสมานวนกิจ ได้นำองุ่นจากแคลิฟอร์เนีย มาปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร ต่อมาในปี  2506  ศ.ปวิณ  ปุณณศรีและคณะ ได้นำองุ่นยุโรปหลายสายพันธุ์ มาทดลองปลูกประสบความสำเร็จ และขยายผลไปสู่เกษตรกร ในเขตภาคกลางปลูกเป็นการค้าจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับในมูลนิธิโครงการหลวง ได้เริ่มวิจัยและส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกองุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง ที่สามารถเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรได้ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศ มีความหนาวเย็นเป็นข้อดี ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีกว่าปกติ และยังสามารถผลิตองุ่นบางพันธุ์ ที่ต้องการสภาพอากาศหนาวเย็นได้


ลักษณะโดยทั่วไป

        องุ่นเป็นไม้เลื้อยประเภทยืนต้น มีอายุยาวนานหลายปี การปลูกจะต้องมีค้างรองรับ เถาองุ่น จะมีลักษณะเป็นปล้องบริเวณข้อจะมีใบ 1 ใบอยู่เรียงสลับกันไปตามข้อ และมีมือจับซึ่งเป็นช่อดอก ที่ไม่พัฒนาอยู่ตรงข้ามกับใบ บริเวณโคนก้านใบจะมีกิ่งแขนงเล็ก 1 กิ่งและตา 1 ตา เป็นตารวมประกอบด้วยตาเอก (Primary bud) 1 ตาอยู่ตรงกลางและตารอง (Secondary bud) 2 ตา ตาเอกมีความสำคัญมาก เพราะประกอบด้วยตายอดมือและกลุ่มของดอก ผลองุ่นจะมีลักษณะเป็นพวง แบบที่เรียกว่าราคีส (rachis) ผลมีหลากหลายลักษณะ ขนาดและสี ภายในผลอาจจะมีเมล็ดหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว องุ่นจะพักตัวในฤดูหนาว เมื่ออากาศอบอุ่นก็จะแตกตาเกิดยอดใหม่ ซึ่งจะออกดอกและติดผลบนกิ่งใหม่ แต่ในประเทศไทย ซึ่งอากาศไม่หนาวเย็น ต้นองุ่นจะไม่พักตัว วิธีการทำให้องุ่นให้ผลผลิตคือ เมื่อกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลแล้ว จะใช้วิธีการตัดแต่ง และใช้สารบังคับให้ตาแตกออกมาเป็นยอดใหม่ และออกดอกให้ผลผลิต


สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย


        เนื่องจากองุ่นมีหลายสายพันธุ์และเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่หลากหลาย แต่บนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นจะทำให้องุ่นออกดอกและให้ผลผลิตได้ดี และผลผลิตมีคุณภาพดี แต่อย่างไรก็ตามบนพื้นที่สูงจะมีปัญหาฝนตกมากเกินไปและแสงแดดน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคทำลายมาก  จึงควรปลูกในสภาพโรงเรือน

        พันธุ์องุ่น พันธุ์ที่นิยมปลูกมี 3 พันธุ์ ด้แก่ พันธุ์ Beauty Perlette (สีเหลือง) พันธุ์ Ruby Seedless (สีแดง) และพันธุ์ Loose Perlette (สีเหลือง) โครงการหลวงได้ศึกษารวบรวมพันธุ์องุ่นไว้หลากหลายพันธุ์และทำการวิจัยโดยมุ่งเน้นพันธุ์รับประทานสดที่มีคุณภาพดี  ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก 2 พันธุ์คือ

1. พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (Beauty Seedless) เป็นองุ่นชนิดไม่มีเมล็ด ผลกลมมีสีดำ ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลหนา รสชาติหวานอร่อย อายุตั้งแต่ ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 5-6 เดือน

2. พันธุ์รูบี้ ซีดเลส (Ruby Seedless) เป็นองุ่นไม่มีเมล็ดเช่นกัน แต่ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะยาวรี สีแดง ช่อผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนากว่าพันธุ์ Beauty Seedless รสชาติหวาน กรอบ อร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 เดือน

        นอกจากนี้ยังมีพันธุ์องุ่นอื่นๆ อีกหลายพันธุ์ที่มีความสำคัญได้แก่ต้นตอพันธุ์ 1613C (Othello x Selonis) และพันธุ์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองเช่น พันธุ์ Kyoho, Honey Red, Frame Seedless และ Early Muscat เป็นต้น




ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต

        องุ่นสามารถตัดแต่งต้นให้มีผลผลิตได้ตลอดปี แต่บนที่สูงจะนิยมบังคับองุ่นให้มีผลผลิตในช่วงเวลาที่ผลผลิตมีคุณภาพสูงคือ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม และเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม


ตลาดและการใช้ประโยชน์

        องุ่นเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคผลสด และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง เช่น น้ำองุ่นและไวน์ สำหรับองุ่นที่มูลนิธิโครงการหลวงปลูกส่วนใหญ่เน้นเพื่อการบริโภคผลสดเป็นหลัก


รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : แบ่งเป็น 2 เกรด

เกรด 1 ผลดี ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง ผลสดไม่เหี่ยว และขั้วผลไม่แตก น้ำหนัก 500 กรัมต่อถาด
เกรด 2 ผลดี ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง ผลสดไม่เหี่ยว และขั้วผลแตก ได้เล็กน้อยน้ำหนัก 500 กรัมต่อถาด


ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด: เดือนธันวาคม-เดือนมกราคม และเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม




ที่มา: องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)





ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน