โพสต์: 24 กุมภาพันธ์ 2556 อ่าน: 4,157 ครั้ง
กันภัยมหิดล
เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นไม้ประจำถิ่นของไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งพบครั้งแรกโดยอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) ที่น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๑๕ ชื่อชนิด mahidoliae นี้ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชื่อท้องถิ่นคือ กันภัย (ภาคกลาง สระบุรี) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Afgekia mahidoliae B.L. Burtt & Chermsir. เป็นพรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ PAPILIONACEAE ลักษณะ ลำต้น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดกลาง อายุหลายปี กิ่งอ่อนสีเขียว มีขนนุ่มทั่วไป ใบ ประกอบแบบขนนก ปลายคี่ออกสลับ ใบย่อย รูปรีแกมขอบขนาน แผ่นใบบาง ใต้ใบมีขนหนาแน่นกว่าด้านบนใบ ดอก ออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกทยอยบานจากโคนช่อมาปลายช่อ ๔-๖ ดอก กลีบประดับสีม่วงอมเขียว รูปเรียวกลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยก ๕ แฉก ดอกรูปดอกบัว มี ๕ กลีบ กลีบกลางสีม่วง กลีบคู่ข้างสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีเหลืองอ่อน โคนกลีบมีแถบสีเหลือง รูปสามเหลี่ยม มีขนปกคลุม ผล เป็นฝักรูปแถบ สีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมื่อแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ด รูปกลม ๒ เมล็ด สีดำเป็นมัน ระยะเวลาติดดอกช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน สภาพทางนิเวศวิทยา พบตามป่าเต็งรัง ภูเขาหินปูนในภาคตะวันตก ชอบแสงแดดจัด และขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด การใช้งานด้านภูมิทัศน์นิยมปลูกประดับซุ้มไม้เลื้อยให้ดอกสีสรรสวยงาม