โพสต์: 22 ธันวาคม 2557 อ่าน: 10,057 ครั้ง
|
สมุนไพรน่ารู้
|
"สมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน บางชนิดอาจพบเห็นได้ยากง่ายต่างกันไป และแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้รักษากันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ในพื้นที่สูงเขตภาคเหนือมีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ในฉบับนี้นำมาอวดโฉมพร้อมบอกสรรพคุณกันค่ะ"
เรื่องกีบม้าลม ในกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หัวใจทศกัณฐ์” เป็นไม้เถา มักพบเกาะอิงอาศัยอยู่กับต้นไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ ลำต้นมียางสีขาว มีใบรูปร่างเหมือนรูปหัวใจ ลักษณะหนาและอวบน้ำ ดอกออกเป็นช่อ มีมงกุฎสีชมพูถึงสีม่วงเข้ม หมอยาพื้นบ้านโป่งคำใช้ใบตากแห้งแล้วแช่น้ำให้หญิงมีครรภ์อาบ เชื่อว่าจะช่วยให้คลอดลูกง่าย หรือบดให้ละเอียดผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง
ขมิ้นดำ หรือ ว่านมหาเมฆ เป็นพืชตระกูลเดียวกับขิงข่า มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบรูปหอก เส้นกลางใบมีสีแดง ใบจะโผล่ขึ้นมาในช่วงฤดูฝนหลังจากที่ดอกเริ่มเหี่ยวเฉา และใบจะเริ่มเหี่ยวเฉาช่วงต้นฤดูหนาว ช่อดอกออกจากใจกลางต้น ถ้าต้นอายุมาก เหง้าจะมีขนาดใหญ่ และช่อดอกก็จะใหญ่ตามไปด้วย ดอกมีใบประดับรูปกรวยเรียงซ้อนกัน ปลายช่อดอกมีสีชมพูถึงแดงเข้ม โคนช่อดอกมีสีเขียวอ่อนถึงเขียว บริเวณใบประดับโคนช่อดอก มีดอกเป็นหลอดรูปกรวยขนาดเล็กสีเหลือง เนื้อในหัวเป็นสีม่วงแก่แกมสีฟ้า ถ้าทิ้งไว้หลายปี จะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง เหง้านำไปหั่นเป็นแว่น สดหรือตากแห้ง ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะ แก้ท้องร่วง แก้หืดหอบ หายใจไม่ปกติ แก้ไข้ แก้อาเจียน
ขะยอม หรือ พะยอม เป็นไม้ยืนต้นสูง 15-30 เมตร เปลือกสีเทาเข้ม แตกเป็นร่อง ใบเดี่ยวรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่นผิวเรียบมัน ช่อดอกมีสีขาวนวลถึงเหลืองอ่อน ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมแรง ผลรูปรี กลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีกยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก คล้ายผลยาง ใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและสมุนไพร ดอกอ่อนนำไปประกอบอาหารประเภทต้ม ตำหรือยำใส่งาหรือปลาแห้ง ดอกบานเด็ดแช่น้ำดื่ม บำรุงหัวใจ
คราม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีใบน้อย ช่อดอกออกตามซอก ดอกย่อยคล้ายดอกถั่วสีชมพู ผลเป็นฝักแบน สีน้ำตาล นำทั้งต้นไปต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้บวมพอง และเป็นยาระบาย กิ่งนำไปย้อมผ้าฝ้าย ให้สีคราม
ตาเหิน หรือ มหาหงส์ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สูง 1-1.5 เมตร ใบเดี่ยวรูปขอบขนานหรือใบหอก ออกเรียงสลับ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและสมุนไพร หน่ออ่อนนำไปลวกหรือรับประทานสดเป็นเครื่องเคียงน้ำพริก เหง้านำไปหั่นเป็นแว่น ต้มน้ำดื่ม แก้อาการลมชัก หรือทุบเหง้าเอาน้ำทาตุ่ม แก้ลมพิษ
ผักเซ็ง หรือ ผักเชียงดา เป็นไม้เถา เปลือกสีเขียว ทุกส่วนของต้นมียางขาวเหมือนน้ำนม ใบเดี่ยวรูปกลมรี ออกเรียงตรงข้าม ท้องใบมีสีเขียวแก่กว่าหลังใบ ช่อดอกออกเป็นกระจุกแน่น สีขาวอมเขียว ดอกย่อยขนาดเล็ก ผลเป็นฝักคู่ ใบใช้ต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวาน ผักดีด หรือ ต้อยตั่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นแข็งตั้งตรง มีข้อห่าง สูง 1–3 เมตร ใบเดี่ยวรูปวงรีหรือวงรีแกมรูปไข่กลับ ออกเรียงสลับ ช่อดอกกระจะ ออกเหนือซอกใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกสีขาว ผลรูปทรงกลม ผิวเรียบสีเขียว ออกเป็นช่อคล้ายมะเขือพวง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ยอดอ่อนนำไปลวกรับประทานเป็นเครื่องเคียงลาบปลา และนำไปประกอบอาหารประเภทแกง หรือนำไปแช่น้ำดื่ม แก้ไข้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ใบนำไปย่างไฟให้อ่อนนุ่ม เคี้ยวให้ละเอียด ดื่มน้ำอุ่นตาม ช่วยแก้ไข้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง
"สมุนไพรบางอย่างมีสรรพคุณสูงและหาได้ไม่ยาก คิดว่าข้อมูลสมุนไพรนี้น่าจะพอมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะคะ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยากนำมาเสนอสรรพคุณค่ะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ"
|
|
------------------------------------------
ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 2 |