โพสต์: 21 พฤษภาคม 2555 อ่าน: 16,939 ครั้ง
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จ พระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ ๓-๕ มีนาคม ๒๕๔๙ และได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับหน่วยงานที่เฝ้ารับเสด็จ โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำและดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และให้พสกนิกรเหล่านั้นสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
การดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการรวม ๒ คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” และคณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” เพื่อเป็นกลไกการสนับสนุนการดำเนินงาน
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ดำเนินการในลักษณะการขยายผลการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปยังชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงในพื้นที่ลุ่มน้ำ ๑๐ แห่ง ใน ๖ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ครอบคลุมพื้นที่รวม ๒,๖๒๒.๔๖ ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย ๗,๙๙๓ ครัวเรือน รวม ๓๒,๕๙๖ คน มีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอ มีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยมีศูนย์บริการและพัฒนาเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับชุมชน เชื่อมโยงกับองค์กร สถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดการบุกรุกทำลายป่าและฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารในพื้นที่เป้าหมาย
จากบันทึกของพลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สรุปพระราชเสาวนีย์ กับหน่วยงานต่างๆ ในการเสด็จฯทอดพระเนตร (1) ศูนย์ไผ่ศึกษาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 (2) ทรงเยี่ยมราษฎรบ้านเมืองแพม อำเภอปางมะผ้า จัดหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 และ (3) ทอดพระเนตรโรงเรียนเกษตรกรบนพื้นที่สูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านนาป่าแปก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549 สรุปได้ดังนี้
1. ด้านการเกษตร
(1) การจัดที่ทำกินและส่งเสริมอาชีพให้ราษฎร มีความจำเป็นควรส่งเสริมให้ราษฎรได้ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และส่งเสริมให้ปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตมากๆ จะได้พอเพียงในการบริโภคภายในครอบครัว เพราะชาวเขาแต่ละครอบครัวมีลูกมาก จึงต้องการบริโภคมาก
(2) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งหมู่บ้านใกล้ที่หัวหิน จะเห็นได้ว่าในหมู่บ้านนี้ ดินหมดสภาพเพราะใช้สารเคมีมาก รัฐบาลมีการอนุญาตให้ใช้สารเคมีได้ ไม่มีข้อห้าม ราษฎรก็จะนำมาใช้ในการทำลายวัชพืช ไม่มีการดายหญ้า ใช้สารเคมีลงดินอย่างเดียว ผลร้ายที่ตามมา คือ ดินหมดสภาพ และยิ่งกว่านั้น เมื่อฝนตก จะชะล้างเอาสารเคมีเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำลำธาร สัตว์น้ำได้รับอันตราย คนใช้น้ำก็เกิดอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐบาลไม่แก้ไขเรื่องการใช้สารเคมีจะเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง
(3) การจัดสถานที่ภายในศูนย์สวยงามมาก การจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกร ในสาขาอาชีพต่างๆ มีประโยชน์แก่ราษฎร เพราะได้มาเห็นของจริง และนำไปทำที่บ้านได้ ควรเน้นให้ราษฎรได้สำนึกในการดูแลรักษาป่า ปลูกป่าด้วย เพราะจะเป็นการสร้างแหล่งอาหารให้เกิดในชุนชนในด้านต่างๆ มีสมุนไพรให้รักษาโรคได้ มีพืช สัตว์ที่เป็นอาหารสำหรับบริโภค การดำเนินชีวิตก็จะดี ประหยัด และสามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อีกด้วย
(4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความสำคัญมาก เพราะต้องรับผิดชอบและดูแลเรื่องอาหารและแหล่งน้ำ ซึ่งหมายถึงรับผิดชอบชีวิตของคนทั้งหลาย ให้อยู่ดี มีอาหารกินอย่างปลอดภัย ต้องช่วยดูแลรักษาป่าอย่าให้มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น เหมือนในปัจจุบัน เพราะมีการทำลายป่ามากเหลือเกิน ในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา เกิดภัยธรรมชาติมาก สาเหตุเกิดจากมีการโค่นป่ามาก แม้แต่ป่าอเมซอนที่สมบูรณ์มากในโลก ก็เริ่มถูกทำลายมากแล้ว
2. ด้านหัตถกรรม
(1) ควรแนะนำให้ราษฎรได้รู้จักวิธีการปลูก วิธีการใช้ไม้ไผ่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในงานหัตกรรมต่างๆ
(2) การจัดทำศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับไม้ไผ่ ทำให้บุคคลทั่วไป เยาวชนและเด็กนักเรียนได้ศึกหาความรู้ และเกิดความภาคภูมใจและสามารถเข้ามาศึกษาในพื้นที่ ที่มีต้นไผ่ตามธรรมชาติและเห็นสภาพป่าจริง
3. ด้านการพัฒนา แหล่งน้ำ
(1) การจัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎร ก็มีความจำเป็นควรสร้างแหล่งน้ำและฟื้นฟูดูแลแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้อีกทาง หนึ่งด้วย
(2) การจัดสร้างธนาคารน้ำ (Water Bank) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เพราะปัจจุบันน้ำเริ่มขาดแคลน และไม่ปลอดภัยในการบริโภค ควรส่งเสริมให้ราษฎรรู้จัดการจัดเก็บน้ำฝน หรือน้ำตามธรรมชาติเอาไว้บริโภคได้ตลอดปี
4. ด้าน การพัฒนาสังคมในชุมชน
การดูแลสุขภาพ และงานด้านอนามัยของราษฎรในหมู่บ้านมีความจำเป็นเด็กๆ ควรรับประทานอาหารที่มีมีสารอาหารอย่างพอเพียง จะทำให้สมองดีและเป็นกำลังที่สำคัญต่อไป
5. ด้านการฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
(1) ไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีคุณค่า ควรส่งเสริมให้ปลูกกันให้มาก และให้อนุรักษ์พันธุ์และขยายพันธุ์ให้ทั่วพื้นที่การปลูกไผ่ช่วยส่งเสริมให้ ป่าสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย
(2) การขยายพันธุ์สัตว์ป่า ควรให้มีสัตว์หลายชนิด และปล่อยคืนสู่ป่า เพื่อขยายพันธุ์ให้มากขึ้น และควรส่งเสริมให้ราษฎรได้ขยายพันธุ์และช่วยกันดูแลด้วย
(3) การขยายพันธุ์เขียดแลวในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ผลดี และควรที่จะขยายพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติด้วย
(4) การจัดการระบบป่าไม้ การจัดศูนย์ไผ่ศึกษา การมีสัตว์ป่าสัตว์น้ำอยู่ในแหล่งธรรมชาติที่เดียวกัน น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในการเดินป่าได้เป็นอย่างดี และควรจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มเติมด้วยก็จะสมบูรณ์
(5) สภาพป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ขอให้ช่วยกันดูแลป่าและปลูกป่าให้มาก
(6) การปลูกป่าและดูแลป่าให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จะทำให้คนอยู่กับป่าได้ ชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงดูแลป่าได้ดีมาก เขาจะรักป่า หวงแหนป่า ควรรณรงค์ให้ราษฎรได้รักป่า และร่วมดูแลป่าให้มาก
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติและประสงค์ที่จะให้พสกนิกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ โดยสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการดังนี้
1. เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพป่าต้นน้ำลำธาร ให้สามารถเกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
2. เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอ เพียงและมีความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม
3. เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีเครือข่ายการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม ภายใต้การสนับสนุนของรัฐและองค์กรในท้องถิ่น
สภาพของพื้นที่ดำเนินงาน
สภาพทั่วไป
พื้นที่ดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงของภาคเหนือ ประกอบด้วยพื้นที่ 10 ลุ่มน้ำ มีหมู่บ้านเป้าหมายรวม 109 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ใน 9 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก
สภาพพื้นที่โครงการฯ โดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 2,622.46 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A รองมาเป็นลุ่มน้ำ 1B ลุ่มน้ำชั้น 2 และชั้น 3 ตามลำดับ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 500-1,600 เมตร ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร อยู่ในหุบเขาและที่ราบเชิงเขา ห่างไกลจากตัวเมืองและมีการคมนาคมที่ยากลำบาก
พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนชื้น แต่บางแห่งมีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี โดยฤดูหนาวเริ่มจากเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 10-25 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มจากเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี มีฝนตกชุก ส่วนฤดูร้อนเริ่มจากเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
สภาพเศรษฐกิจและสังคม
ประชากรที่อาศัยบนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา แบ่งเป็น 9 ชนเผ่า คือ กะเหรี่ยง ลัวะ ลีซอ อาข่า (อีก้อ) มูเซอ ม้ง ปะโอ ไทยใหญ่ และไทยพวน ยกเว้นประชากรที่อาศัยบริเวณลุ่มน้ำลี จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นชนพื้นเมือง ประชากรในพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 7,993 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวน 1,594 ครัวเรือน รองมาเป็นประชากรในลุ่มน้ำแม่สะงา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1,480 ครัวเรือน และลุ่มน้ำลี จังหวัดอุตรดิตถ์ มีประชากรจำนวน 1,295 ครัวเรือน ตามลำดับ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ปลูกไม้ผลและเลี้ยงสัตว์ พืชหลัก คือ ข้าว ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กาแฟ ชา กะหล่ำ ข้าวโพด ลิ้นจี่ ขิง พริก หม่อนไหม กล้วยน้ำว้า ข่าป่า กระเทียมและงา เป็นต้น มีการเลี้ยงสุกร โค และสัตว์ปีก ทั้งเพื่อบริโภคและจำหน่าย ส่วนอาชีพนอกภาคเกษตร ได้แก่ ค้าขายและรับจ้างทั่วไป
สภาพปัญหา
1. เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาประกอบอาชีพการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยขาดความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสม ทำให้ได้รับผลผลิตต่ำ เกษตรกรจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจน
2. พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำลาย มีปัญหาการชะล้างพังทลายหน้าดินสูง ทำให้พื้นที่การเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย
3. ชุมชนตั้งอยู่กระจัดกระจายและอยู่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก ไม่ได้รับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะถนนเพื่อขนส่งผลผลิต รวมทั้งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค
4. พื้นที่โครงการหลายแห่งเป็นหมู่บ้านชายแดนที่มีปัญหาด้านความมั่นคงและปัญหายาเสพติด
5. สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำลี อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติดินโคลนถล่ม เมื่อปี พ.ศ.2549 ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากและยังเป็นพื้นที่ล่อแหลมในปัจจุบัน
ข้อมูลพื้นที่โครงการและข้อมูลพื้นฐาน จำแนกรายจังหวัด
จังหวัด/โครงการ |
ที่ตั้ง |
การใช้ประโยชน์ที่ดิน(ตร.กม.) |
หมู่บ้าน (หมู่บ้าน) |
ครัวเรือน (ครัวเรือน) |
ประชากร (คน) |
จังหวัดแม่ฮ่องสอน |
|||||
1) โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำของ |
อ.ปางมะผ้า |
578.51 |
13 |
571 |
2,538 |
2) โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำปาย |
อ.เมือง |
134.87 |
17 |
1,594 |
5,575 |
3) โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำแม่สะงา |
อ.เมือง |
420.97 |
11 |
1,480 |
5,956 |
4) โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำแม่สะมาด-ห้วยหมากกลาง |
อ.เมือง และ อ.ขุนยวม |
179.90 |
14 |
385 |
1,964 |
จังหวัดเชียงใหม่ |
|||||
1) โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำแม่หาด |
อ.อมก๋อย |
220.98 |
6 |
224 |
1,280 |
2) โครงการ“รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำปิงน้อย |
อ.แม่แจ่ม |
53.56 |
7 |
350 |
1,621 |
จังหวัดเชียงราย |
|||||
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”ลุ่มน้ำคำ |
อ.แม่ฟ้าหลวง |
31.92 |
4 |
276 |
1,447 |
จังหวัดน่าน |
|||||
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”ลุ่มน้ำขุนน่าน |
อ.เฉลิมพระเกียรติ |
168.66 |
15 |
862 |
3,425 |
จังหวัดพิษณุโลก |
|||||
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”ลุ่มน้ำภาค |
อ.ชาติตระการ |
570.00 |
14 |
956 |
4,250 |
จังหวัดอุตรดิตถ์ |
|||||
โครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน”ลุ่มน้ำลี |
อ.ท่าปลา |
263.09 |
8 |
1,295 |
4,540 |
รวม |
2,622.46 |
109 |
7,993 |
32,596 |
หน่วยงานรับผิดชอบ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กองทัพภาคที่ 3 โดยการสนับสนุนของสำนักราชเลขาธิการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละโครงการ ดังนี้
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย
1.1 กรมพัฒนาที่ดิน
1.2 กรมส่งเสริมการเกษตร
1.3 กรมประมง
1.4 กรมวิชาการเกษตร
1.5 กรมการข้าว
1.6 กรมชลประทาน
1.7 กรมปศุสัตว์
1.8 กรมส่งเสริมสหกรณ์
1.9 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
1.10 กรมหม่อนไหม (สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์)
1.11 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1.12 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
2.1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2.2 กรมป่าไม้
2.3 กรมทรัพยากรน้ำ
2.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
2.5 สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3. กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย
3.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
3.2 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
4. กระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
4.1 กรมอนามัย
5. กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย
5.1 กรมทางหลวงชนบท
ผลการดำเนินงานโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 คลิกที่นี่
ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮดใบมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นมัน เรียงซ้อนกันแน่นคล้ายดอกกุหลาบ และห่อหัวแบบ
พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 1
กันภัยมหิดลเป็นไม้ประจำถิ่นของไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งพบครั้งแรกโดยอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) ที่น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี
พืชสกุลไฮเดรนเยีย (Hydrengea macophylla) มีอยู่ด้วยกันประมาณ 80 ชนิด ส่วนมากจะเป็นไม้พุ่ม