โพสต์: 9 ตุลาคม 2555 อ่าน: 6,494 ครั้ง
|
ชุมชนต้นแบบโครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงตอนบนปางแดง กับการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างครบวงจร
|
บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง ที่อพยพมาจากประเทศพม่า เป็นชนเผ่าเดียวกับชาวปะหล่องบ้านนอแล พื้นที่ดอยอ่างขางในทิวเขาแดนลาว เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (เป็นสถานีที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่น มาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อน)
ชาวปะหล่องกลุ่มนี้ได้เรียกชื่อชนเผ่าตนเองว่า “ดาราอั้ง” ซึ่งมีความหมายตามความเชื่อจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนว่า “เป็นชนเผ่าที่มาจากนางฟ้าบนสรวงสวรรค์ แต่ได้ละเมิดกฎของสวรรค์ จึงทำให้ต้องมากำเนิดในโลกมนุษย์ กลายเป็นชนเผ่าปะหล่องนั่นเอง”
วิถีชีวิตของชาวปะหล่องส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติในลักษณะของคนอยู่ร่วมอาศัยกับป่า เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2549 มูลนิธิโครงการหลวง ได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยสนับสนุนให้การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย(ปตท.) ดำเนินการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการปลูกหญ้าแฝกร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นตามโครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส ทรางครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นองค์การภาครัฐที่ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนางานโครงการหลวงและดำเนินการขยายผลโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่จะอยู่ได้อย่างดี ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความอดออม และการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกันเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือชนเผ่าปะหล่องในพื้นที่บ้านปางแดงใน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
|
|
|
ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงตอนบนปางแดงในภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นจะเน้นให้มีการพัฒนาด้านการเกษตรตามฐานองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆกับคุณภาพของผลผลิตพืชตามมาตรฐานการผลิตพืชที่ปลอดภัย โดยให้คนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สิ่งหนึ่งที่จะสังเกตจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคือ การส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาทำลายซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีข้าวโพด โดยให้นำมาทำปุ๋ยหมักตามวิธีธรรมชาติ วิธีการหนึ่งที่ชาวปางแดงในปฏิบัติก็คือการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว แล้วนำเศษวัสดุที่เหลือจากการปลูกมาทำเป็นแนวคันดินตามขวางในแปลง สลับกับการปลูกพืชตระกูลถั่วแบบไม่ไถ ไม่เผา เพื่อลดต้นทุนในการกำจัดวัชพืช เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ลดพื้นที่ที่เกิดจากการทำลายป่า รวมทั้งลดปัญหามลภาวะจากปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษพืช ลักษณะของการปลูกพืชเหลื่อมฤดูนี้ เป็นลักษณะของการปลูกพืชชนิดที่ 2 ในขณะที่พืชชนิดแรกยังเจริญเติบโต และยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ซึ่งวิธีการนี้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกน้อย และอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำฝน สามารถปรับใช้กับการปลูกพืชเหลื่อมฤดูได้หลายชนิด เช่น การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยถั่วนิ้วนางแดง การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยถั่วนิ้วนางแดงเสริมด้วยถั่วแปะยี การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยถั่วนิ้วนางแดง เสริมด้วยหญ้าแฝกตามแนวระดับ และการปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยถั่วนิ้วนางแดง เสริมด้วยหญ้าแฝกและสับปะรดตามแนวระดับ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีที่ชาวปะหล่องบ้านปางแดงในนำไปปรับใช้จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ จากเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ผสมผสานกับวิถีการปลูกพืชแบบดั้งเดิมของชาวปะหล่องที่ปฏิบัติกันอยู่เดิม จนกระทั่งชุมชนปะหล่องบ้านปางแดงในได้รับรางวัลชุมชนตัวอย่างที่จัดการแก้ปัญหามลพิษทางหมอกควันได้ครบวงจร โดยได้รับรางวัลการแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยชาวบ้านในชุมชนอย่างครบวงจร จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553
|
|
|
นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้วชาวบ้านปางแดงในยังมีวิธีการลดต้นทุนการปลูกพืช ด้วยการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งวัสดุสำหรับการทำปุ๋ยหมักของชาวบ้านก็คือ เศษซังข้าวโพด เศษใบไม้ เศษฟางข้าว เศษวัสดุการเกษตรอื่นๆที่เหลือทิ้ง ที่คนทั่วๆไปคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่ชาวปะหล่องปางแดงในจะนำมาผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ แบบไม่พลิกกลับกอง ต้นทุนต่ำ ที่ไม่ต้องใช้การเตรียมวัสดุให้ยุ่งยาก มีเพียงมูลสัตว์ที่หาได้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น มูลสุกร มูลกระต่าย มูลไก่ มูลวัวและควาย มาวางเรียงสลับกับเศษพืชที่หามาได้ ประมาณ 15-17 ชั้น กองขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยมมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร แต่มีฐานกว้างประมาณ 2.50 เมตร ความยาวไม่จำกัดตามขนาดพื้นที่ หมักกองทิ้งไว้ 60 วัน(ประมาณ 2 เดือน) โดยไม่ต้องพลิกกลับกอง แต่มีการเจาะรูเติมน้ำทุกๆ 10 วัน จำนวน 5 ครั้ง โดยรูที่เจาะห่างกันประมาณ 50 ซม. จากวิธีดังกล่าวที่ เรียกว่า “วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1” นี้ ทำให้ปัจจุบัน ชาวปะหล่องบ้านปางแดงในสามารถผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เองในชุมชนได้ 60 ตัน เพียงพอกับการปลูกพืชไร่ขนาดพื้นที่ 600 ไร่ ใน 40 กว่าหลังคาเรือนในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงตอนบนปางแดง ตลอดทั้งปี โดยไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมีแม้แต่น้อย
จากผลสำเร็จในด้านการบริหารจัดการภายในชุมชน ผสานกับการบูรณาการการทำงานระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้ชุมชนปะหล่องบ้านปางแดงในเป็นชุมชนต้นแบบในเรื่องการลดพื้นที่การปลูกพืชไร่ แต่เพิ่มผลผลิตพืช ได้โดยวิธีการ ไม่เผา ไม่ไถ เป็นชุมชนที่แก้ไขปัญหาหมอกควันได้ครบวงจรชุมชนหนึ่ง ที่ชุมชนอื่นน่าจะสังเคราะห์องค์ความรู้และรูปแบบ เพื่อนำไปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป
|
-------------------------------------------------------------
|
ภาคภูมิ ดาราพงษ์ |
คนทำงาน R&D (Reserch & Development) กับการเติบโตในสายงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรกว่า 10 ปี กับองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เช่น Danish International Development Agency (DANIDA) และ กรมวิชาการเกษตร ในสายงาน ส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็ง กลุ่มเกษตรกรในเขตภาคเหนือของเทศ และเป็นอดีต Trainer สร้างวิทยากรเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร (FFS: Farmer Field School) ของประเทศไทย
|
|