โพสต์: 7 มีนาคม 2556 อ่าน: 33,219 ครั้ง
|
หัตถกรรมท้องถิ่นในพื้นที่โครงการหลวง
|
งานหัตถกรรมของชาวเขา เป็นงานประเภทหัตถกรรมที่ผลิตขึ้นจากฝีมือของชนเผ่า โดยอาศัยภูมิปัญญาการฝึกหัดการเรียนรู้และการถ่ายทอดสืบต่อกันมา โดยใช้เวลาว่างหลังจากงานเกษตร เป็นการดำรงรักษาเอกลักษณ์ของชนเผ่า การสะท้อนวิถีชีวิต ขนมธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่า และการใช้ประโยชน์ของตนเองและครัวเรือน เช่น การทอผ้า ปักผ้า จักสาน และทำเครื่องเงิน เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการหลวง ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวเขาผลิตสิ่งทอและหัตถกรรมของตนเอง โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดเป็นหมู่บ้านหัตถกรรม หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอด ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้หลักของครอบครัวและชุมชนให้กับประชากรบนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี
ความหมาย
หัตถกรรมท้องถิ่นในพื้นที่โครงการหลวง ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการหลวงส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ กะเหรี่ยง อาข่า ลาหู่ ม้ง ลีซอ และเย้า นอกจากได้รับการส่งเสริมอาชีพทาง การเกษตรแล้ว ยังได้รับการส่งเสริมงานหัตถกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น ผ้าทอ จักสาน เครื่องเงิน และอื่น ๆ ตามความถนัดอันเป็นพื้นฐานของแต่ละชนเผ่า ในการส่งเสริมด้านหัตถกรรมชาวเขา โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านของแต่ละชนเผ่าที่มีฝีมือด้าน การเย็บปักถักร้อยและการทอผ้าเป็นพื้นฐาน ได้ใช้เวลาในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ในครอบครัว เช่น การทอผ้า ปักผ้า จักสานและเครื่องเงินที่มีลวดลายและศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะถูกนำมาสร้างเป็นงานผลิตหลังจากการว่างงานในฤดูนอกภาคเกษตร เป็นการบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ งานหัตถกรรมชาวเขาในระยะแรกเป็นการผลิตเพื่อใช้สอยในครัวเรือนเป็นหลัก ปัจจุบันได้พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเป็นของใช้และสินค้าที่ระลึก ดังนั้น หัตถกรรมชาวเขา ส่วนใหญ่ จึงนิยมผลิตเป็นผ้าผืน ย่าม ลายปัก เครื่องจักสานและเครื่องเงิน ชาวเขาเผ่าที่มีความสามารถในการเย็บปักถักร้อยคือชาวม้ง เย้า กะเหรี่ยง เสื้อผ้าชาวเขาเผ่าต่างๆ เหล่านี้มักทอขึ้นมาเองหรือมีลวดลายปักที่ละเอียดเป็นเอกลักษณ์ มีการนำลายปักหรือผืนผ้ามาจำหน่าย หรือนำมาประยุกต์กับเสื้อผ้าสตรี หรือใช้เป็นของตกแต่งบ้าน ความหมาย ของ “หัตถกรรม” หัตถกรรม หมายถึง การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยมือ เครื่องมือ ภูมิปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน งานหัตถกรรม เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชนเผ่า ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์เฉพาะ ความประณีต งดงาม หลากหลายที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ที่สามารถมองเห็นได้จากรูปแบบของเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องใช้ในครัวเรือน ที่อยู่อาศัย เครื่องมือทางการเกษตรและพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ งานฝีมือที่ผลิตกันในครัวเรือน บางครั้งต้องอาศัยช่างฝีมือการผลิตเครื่องนุ่งห่มนั้นทำโดยผู้หญิง ขณะที่เครื่องใช้ไม้สอยทำโดยผู้ชาย ส่วนเครื่องจักสานเป็นงานร่วมของทั้งหญิงและชาย ส่วนหน้าไม้ กับดักสัตว์และเครื่องดนตรีนั้นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการผลิตของแต่ละชนิดไป งานทั้งหลายเหล่า นี้ เราเรียกรวมๆ กันว่า “หัตถกรรม”
|
|
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดงานหัตถกรรม งานหัตถกรรมเกิดขึ้นภายใต้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ความเชื่อ ภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น งานหัตถกรรมจึงเป็นพื้นฐานความต้องการในการดำรงชีวิต ซึ่งมีที่มา และลักษณะของงานแตกต่างกัน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดงานหัตถกรรม ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ 2. ทรัพยากรหรือวัสดุท้องถิ่น 3. ภูมิปัญญาหรือประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่น 4. แบบแผนและรูปแบบกรรมวิธี 5. ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม คติความเชื่อและศาสนา
ปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง 5 องค์ประกอบ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผลิต ขั้นตอนการกำหนดรูปแบบ และมีกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาในการทดลองปรับปรุง พัฒนา ผ่านการเรียนรู้ตามภูมิหลังประวัติศาสตร์ หรือภูมิปัญญาที่สั่งสมอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ จนเกิดความลงตัวของรูปแบบและ กลายเป็นแบบแผนการปฏิบัติที่ใช้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
คุณค่าของหัตถกรรม ด้วยการบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชน เผ่าตามยุคสมัย งานหัตถกรรมหรืองานฝีมือที่ได้จากงานฝีมือของชาวเขาเผ่าต่างๆ จึงเป็นงานที่มาจากใจจากความเชี่ยวชาญที่มาจากความตั้งใจตามลักษณะวิถีของ แต่ละชนเผ่า
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยบนพื้นที่สูง ชาวเขาหรือคนไทยพื้นราบ กระทั่งผู้เยี่ยมเยือนที่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสศิลปะประดิษฐ์เหล่านั้น จะได้เห็นคุณค่าของงานฝีมือของผู้ประดิษฐ์ เพราะกว่าจะได้ผลงานแต่ละชิ้นค่อนข้างยากและไม่เหมือนกัน ใช้ฝีมือมาก ซึ่งผลงานแบบนี้หาไม่ได้ง่ายในสมัยนี้
งานหัตถกรรมจึงถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สืบทอดกันมา แสดงให้เห็นถึงคุณค่าในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. คุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่สนองต่อความต้องการเพื่ออำนวยความ สะดวกในการใช้งานในแต่ละบริบทพื้นที่ 2. คุณค่าด้านความเชื่อและค่านิยม งานหัตถกรรมแต่เดิมผู้สร้างและผู้ใช้เป็นคนคนเดียวกัน คือสร้างเพื่อใช้เอง การที่ผู้สร้างจะมีค่านิยมและความเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมจะถ่ายทอดสู่งานที่ตนสร้างด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง โดยมีแบบแผนของวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่เป็นตัวหล่อหลอม 3. คุณค่าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เนื่องจากงานหัตถกรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีจุดประสงค์ และเป็นสิ่งที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต 4. คุณค่าด้านการเป็นเอกลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรม งานหัตถกรรมเกิดขึ้นภายใต้ความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม ฐานทรัพยากร ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ ศาสนาและภูมิปัญญา ที่หลอมรวมจนเกิดเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตร่วมกัน 5. คุณค่าด้านความงาม งานหัตถกรรมย่อมประกอบขึ้นเพื่อความต้องการทางประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก แต่ผู้สร้างได้พิจารณารูปทรงที่เหมาะสมและความสวยงามน่าใช้สอย โดยแสดงออกผ่านรูปทรง โครงสร้าง ลวดลาย วัสดุและฝีมืออันวิจิตรประณีต 6. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ การผลิตเป็นสินค้าและของที่ระลึกจากการท่องเที่ยว สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้
|
ที่มา: องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
|