โพสต์: 12 มีนาคม 2556 อ่าน: 10,452 ครั้ง
|
หัตถกรรมท้องถิ่นในพื้นที่โครงการหลวง
|
ประเภทของงานหัตถกรรม งานหัตถกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1. หัตถกรรมโรงงานหรือหัตถ์อุตสาหกรรม เป็นการผลิตงานหัตถกรรมในโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องใช้เครื่องมือ เครื่องทุ่นแรงและเทคนิคทันสมัย มีระบบการผลิตเป็นสินค้าจำนวนมากตามความต้องการของตลาด 2. หัตถกรรมในครอบครัว เป็นการผลิตงานหัตถกรรมภายในครอบครัว ที่ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก โดยลักษณะงานเป็นอาชีพรองจากการทำเกษตรกรรม ใช้เครื่องมือ เครื่องทุ่นแรงในการผลิตแบบง่ายๆ และใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น โดยทักษะการผลิตที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ งานฝีมือที่แสดงเอกลักษณ์ของตน ทั้งในการปักเย็บเครื่องนุ่งห่ม ประดิษฐ์เครื่องประดับหรือเครื่องดนตรี เครื่องจักสาน เครื่องใช้ไม้สอย อาวุธ ตลอดจนกับดักสัตว์ของชาวเขาและคนไทยบนพื้นที่สูงจัดอยู่ในประเภทหัตถกรรมในครอบครัว ซึ่งงานดังกล่าวมีที่มาใน 3 รูปแบบคือ
1. รูปแบบที่ได้จากการคงการอนุรักษ์หรือรูปแบบตามวิถีประเพณี 2. รูปแบบที่เกิดจากการสร้างสรรค์หรือรูปแบบร่วมสมัย 3. รูปแบบที่เกิดจากความต้องการของตลาด แม้งานหัตถกรรมจะขึ้นอยู่กับวัสดุและกรรมวิธีการผลิตของแต่ละพื้นที่ แต่งานหัตถกรรมตามชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนบนพื้นที่สูง ให้มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับบริบทสังคม มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรที่มีอยู่ นำเสนอเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. หัตถกรรม “การทอผ้า”
การทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสมัยก่อน ผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย
กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ เป็นเทคนิคและความสามารถของแต่ละคน หลักใหญ่ของการทอผ้าก็คือ การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า เส้นยืน แล้วใช้อีกเส้นหนึ่ง เรียกว่า เส้นพุ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกันก็จะเกิดลวดลายต่างๆ งานทอผ้าฝ้ายด้วยมือเป็นงานที่คนไทยทุกภาคทั่วประเทศรู้จักดีมาแต่โบราณและมีชื่อเสียงอยู่ในหลายท้องถิ่น แต่กำลังจะสูญหายไปจากความนิยมเพราะมีผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักรเข้ามาแทน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์การทอผ้าฝ้ายไว้ โดยให้ทอด้วยกี่กระทบแบบของเก่าต่อไป
ผ้ามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะเพื่อการใช้สอยและใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ความสำคัญของผ้าพอกล่าวได้เป็น 3 ประการด้วยกัน คือ
1) เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ต้องใช้เพื่อการดำรงชีวิต 2) เป็นเครื่องแสดงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม 3) เป็นเครื่องแสดงถึงการแบ่งหน้าที่ระหว่างชายหญิง
การสื่อความหมายจากลวดลายต้นแบบ
ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลายและสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมายและมองไม่เห็นคุณค่าจากลวดลาย รูปแบบของผ้าทอของเผ่าต่างๆ ข้างต้น เป็นลวดลายง่าย ๆ บนสีสันที่คนในแต่ละพื้นที่อาจจะคิดขึ้นโดยธรรมชาติ และมีการพัฒนาประดิษฐ์เสริมต่อจนเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นจนผู้ดูสามารถเข้าใจความหมายได้ ลวดลายที่พัฒนาจนสื่อความหมายได้มีปรากฏอยู่ในผ้าพื้นเมืองของไทยอย่างมากมาย
- ลายเส้นตรง หรือเส้นขาด ในทางตรงยาวหรือทางขวางเส้นเดียว หรือหลายเส้นขนานกัน ลายเส้นตรงทางขวางเป็นลายผ้าที่ใช้กันทั่วไปในแถบล้านนาไทยมาแล้วแต่โบราณ และบ่อยครั้งเราจะพบผ้ามัดหมี่อีสานเป็นลายเส้นต่อที่มีลักษณะเหมือนฝนตกเป็นทางลงมา หรือที่ประดับอยู่ในผ้าตีนจกเป็นเส้นขาดเหมือนฝนตก หรือลายเส้นขาดขวางเหมือนเป็นทางเดินของน้ำ เป็นต้น
- ลายฟันปลา ปรากฏอยู่ตามเชิงผ้าของตีนจกและผ้าขิต ตลอดจนเป็นลายเชิงของซิ่นมัดหมี่ของผ้าที่ทอในทุกภาคของไทย บางครั้งจะพบผ้ามัดหมี่ลายฟันปลาทั้งผืนก็มี นอกจากนี้ผ้าของชาวเขาเผ่าม้งทางภาคเหนือจะใช้ลายฟันปลาประดับผ้าอยู่
- ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือลายกากบาท เกิดจากการขีดเส้นตรงทางเฉียงหลาย ๆ เส้นตัดกัน ทำให้เกิดกากบาทหรือตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลายรูปติดต่อกัน ลายนี้พบอยู่บนผ้าจก ผ้าขิตและผ้ามัดหมี่ ยังพบบนลวดลายผ้าของชาวเขาเผ่าม้ง เผ่ากะเหรี่ยงในไทยและประเทศจีนด้วย
- ลายขดเป็นวงเหมือนก้นหอยหรือตะขอ ลายนี้พบอยู่ทั่วไปเช่นกัน บนผ้าจก ผ้าขิต และผ้ามัดหมี่ของทุกภาค ชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า "ลายผักกูด" ซึ่งเป็นชื่อของพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง ลวดลายต้นแบบทั้ง 4 ลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นลวดลายที่มีปรากฏในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังพบว่าเป็นลวดลายที่อยู่บนภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณขุดพบที่โคกพนมและบ้านเชียงด้วย
ลวดลายที่เชื่อมโยงกับความเชื่อพื้นบ้าน
- การทอลายขิต คือการคัดเก็บยกเส้นด้ายยืนพิเศษ ให้เกิดเป็นลวดลาย แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวของความกว้างของหน้าผ้า ทำให้เกิดลายขิตในแต่ละแถวเป็นลายขิตสีเดียวกัน
- การยก เป็นเทคนิคการทอยกลายให้เห็นเด่นชัด มีลักษณะคล้ายกับการทอลายขิต แต่ใช้เส้นพุ่งพิเศษ เช่น ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง มีชายมีเชิง ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากกว่าผ้าทอลายขิตมาก
- การจก เป็นเทคนิคการทอลวดลายบนผืนผ้า ด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปขณะที่ทอเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้าโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือ ยกหรือจกด้วยเส้นยืนขึ้นแล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษต่อไปตามจังหวะของลวดลาย สามารถสลับสีได้หลากหลายสี
- การทอลายน้ำไหล เป็นเทคนิคการทอแบบลายขัดธรรมดา แต่ใช้ด้ายหลากสีพุ่งเกาะเกี่ยวกันเป็นช่วง ๆ ให้เกิดจังหวะของลายน้ำไหล เป็นลักษณะเฉพาะของชาวเมืองน่าน เรียกกรรมวิธีการทอนี้ว่า "ล้วง" แต่ชาวไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาเรียกว่า "เกาะ" เทคนิคนี้อาจดัดแปลงพัฒนาเป็นลายอื่น ๆ
- การยกมุก เป็นเทคนิคการทอโดยใช้เส้นยืนพิเศษเพิ่มบนกี่ทอผ้าลายยกบนผ้าจากการใช้ตะกอลอยยกด้ายยืนพิเศษ ลวดลายที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิค ขิต จก แทบจะแยกไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคการทอผ้าที่ลึกซึ้ง
ชาวไทยพวนที่ตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัยและที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เทคนิคนี้ในการทอส่วนที่เป็นตัวซิ่น บางครั้งอาจจะนำเชิงซิ่นมาต่อเป็นตีนจกเรียกว่า ซิ่นมุก
- การมัดหมี่ เป็นเทคนิคการมัดเส้นพุ่งหรือเส้นยืน ให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟางก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอด้ายให้เรียงตามลวดลาย ร้อยใส่เชือกแล้วนำมาทอ จะได้ลายมัดหมี่ที่เป็นทางกว้างของผ้า เรียกว่า มัดหมี่เส้นพุ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา มีการทำผ้ามัดหมี่เส้นยืนบ้างในบางจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรีและเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นผ้าชาวเขา บางผืนใช้การทอสลับกับลายขิต ช่วยเพิ่มความวิจิตรงดงามให้แก่ผืนผ้า
|
|
-------------------
ที่มา: องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
|