โพสต์: 29 พฤษภาคม 2556 อ่าน: 14,223 ครั้ง
|
โครงการขยายผลโครงการหลวง นั้นเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ที่จะต้องขยายผล การดำเนินงานของโครงการหลวง ไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ
|
สภาพของพื้นที่สูงในประเทศไทยที่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 35 ครอบคลุมพื้นที่ 67.22 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ซึ่งมีประชากรถึง 1,203,149 คน (พ.ศ. 2545) ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่มีสภาพยากจน มีรายได้เฉลี่ยปีละเพียง 31,126 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีพฤติกรรมการเกษตรที่ต้องบุกรุกทำลายป่าเพื่อหาที่ทำกินใหม่ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรเดิมเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตต่ำ และมีการปลูกพืชโดยใช้สารเคมีการเกษตรปริมาณมากทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและกำลังสร้างปัญหาต่อทั้งสุขภาพของเกษตรกรเอง ผู้บริโภค และสร้างปัญหาความขัดแย้งของชุมชนระหว่างพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
จากปัญหามากมายในพื้นที่ ได้มีหน่วยงานได้เข้าช่วยเหลือหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ทำให้ชุมชนชาวไทยภูเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก และมีประชากรบนพื้นที่สูงหลายพื้นที่ได้ยื่นหนังสือถึง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อขอความช่วยเหลือให้โครงการหลวงเข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่ และช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี จึงมีรับสั่งให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ดำเนินงานโครงการขยายผลโครงการหลวงขึ้น
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงได้มุ่งขยาย ผลจากความสำเร็จของโครงการหลวงไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ โดยนำต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโครงการหลวงไปปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามศักยภาพของสังคมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินบนพื้นที่สูง โดยปรับเปลี่ยนแนวคิด ความเชื่อและค่านิยมของชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มุ่งสร้างรายได้ของแต่ละบุคคลและเพาะปลูกตามกระแสของตลาดโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ดี มาเป็นการเพาะปลูกและประกอบอาชีพบนฐานของการเรียนรู้และคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดกระบวนมีส่วนร่วมของชุมชนกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่จะใช้พัฒนาพื้นที่สูง
โครงการขยายผลโครงการหลวง จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่จะต้องขยายผลการดำเนินงานของโครงการหลวงไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ เน้นการนำองค์ความรู้และความสำเร็จของโครงการหลวงโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการผลิต การฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการพัฒนาการท่องเที่ยวและการพัฒนางานด้านหัตถกรรมของโครงการหลวง เพื่อนำไปทดสอบและปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของชุมชน เมื่อชุมชนและองค์กรในพื้นที่มีความพร้อมและเข้มแข็ง ก็จะพัฒนาเข้าสู่เครือข่ายของสังคมแห่งการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นที่สูงต่อไป
ในปี พ.ศ. 2551 โครงการขยายผลโครงการหลวงได้เริ่มดำเนินการใน พื้นที่ 17 แห่ง 6 จังหวัด 15 อำเภอ 22 ตำบล 57 กลุ่มบ้าน 9 ชนเผ่า 8,011 ครัวเรือน ประชากร 35,549 คน ปัจจุบันโครงการขยายผล โครงการหลวงมีพื้นที่ดำเนินการ 29 แห่ง คลอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 24 อำเภอ 34 ตำบล 106 กลุ่มบ้าน 19 ชนเผ่า 15,134 ครัวเรือน ประชากร 71,371 คน (พ.ศ.2552)
|
|
-------------------------------------------------------------------- ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 1
|