This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 29 พฤษภาคม 2556     อ่าน: 8,139 ครั้ง



เพียงพอ กับ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านปางแดงใน


“อยากกินอะไรก็ปลูก อยากกินอะไรก็เลี้ยง ติดบ้านไว้ ประหยัดรายจ่าย ให้ตัวเองมีกินก่อน เรื่องค้าขายไว้ทีหลัง นี่แหล่ะเศรษฐกิจพอเพียงในแบบของผม”

        คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ พึงปฏิบัติกันด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ชุมชนบ้านปางแดงใน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ถึงขนาดที่ว่า มีศูนย์เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านเลยทีเดียว จากคำบอกเล่าของ ลุงชาติ จันทรา วัย 48 ปี

“เมื่อก่อนยังไม่มีโครงการขยายผลโครงการหลวงมาส่งเสริม  ก็กินกันธรรมดา ชาวเขาส่วนใหญ่จะซื้อกิน แต่ตอนนี้มีศูนย์เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ชาวบ้านมาดูที่ศูนย์เรียนรู้แล้วก็กลับไปทำต่อยอดกันที่บ้าน”

        ในศูนย์เรียนรู้นั้นมีเรื่องให้ศึกษามากมาย เช่นการปลูกผัก มีผักกาด ผักคะน้า ผักบุ้ง มะเขือส้ม ผักระ ฯลฯ  พืชสมุนไพรก็มี เช่น รางจืด ต๋าว เจียวกู้หลาน ยาเลือดก้อน หลิ่งเหลว ฯลฯ  รวมไปถึงผลไม้ เช่น เสาวรส  ขนุน มะม่วง มะละกอ  กล้วย พุทธา ฯลฯ   ด้านปศุสัตว์ก็มีให้ศึกษาเช่นกัน ทั้งการเลี้ยงหมูหลุม ไก่ เป็ด กบ ซึ่งปัจจุบัน ชาวบ้านได้มาศึกษาแล้วกลับไปเลี้ยงหมูหลุมเกือบทุกหลังคาเรือน จากที่เคยเลี้ยงปล่อย ทำให้หมู่บ้านสกปรก พอเป็นหมูหลุมตอนนี้ก็ชุมชนสะอาด แถมเอามูลมาเป็นปุ๋ยอีกต่างหาก ก็นำมาใส่ผักสวนครัวที่อยู่หลังบ้านได้สบาย

“เรื่องความสะอาดของหมู่บ้านก็เหมือนกัน ทางโครงการได้เข้ามาส่งเสริม แนะนำ จนตอนนี้ชุมชนบ้านปางแดงในเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านสะอาด และน่าอยู่มาก เรื่องการทำฝายก็เช่นกัน จากภูมิปัญญาเดิมบวกกับความถูกต้องตามหลักวิชาการ บ้างปางแดงในมีน้ำใช้ ชาวบ้านช่วยกันสร้างฝายทุกหลังคาเรือน เพราะชาวบ้านรู้ประโยชน์”

 


“ขอบคุณในหลวงที่ให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย บุญคุณของในหลวงมากมาย พวกเราจะน้อมฟังคำสั่งสอน เรื่องการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง การรักษาป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ”

        นายนันตา อาซุ่ง ผู้นำชุมชนบ้างปางแดงใน วัย 55 ปี ผู้มีบทบาทอย่างมากในชุมชนแห่งนี้  ถือเป็นบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่วมกิจกรรมกับโครงการที่ชาวบ้านเห็นประโยชน์ด้วยแล้ว จึงเอาอย่างบ้าง

        “เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ช่วงที่ยังไม่มีโครงการขยายผลโครงการหลวง ชุมชนยังทำอะไรได้ไม่มาก เพราะไม่มีใครมาสอน แต่พอมีโครงการขยายผลฯเข้ามาส่งเสริม วิถีชีวิตบางอย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี เช่น การปลูกข้าวโพด เมื่อก่อนจะเป็นการปลูกแล้วเผาหลังการเก็บเกี่ยว และปลูกเพียงข้าวโพดอย่างเดียว แต่หลังจากที่มีการส่งเสริมให้ปลูกเป็นข้าวโพดเหลื่อมถั่ว มีการวัดระยะต้นข้าวโพด การปลูกต้นถั่วสลับ ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากเดิมที่ข้าวโพดขายได้ประมาณ  4,000 บาทต่อไร่ แต่พอปลูกถั่วด้วย สามารถสร้างรายได้ได้ถึง 8,000 บาทต่อไร่  ต้นถั่วที่เก็บแล้วยังเอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก เอาไปเลี้ยงหมูหลุมได้อีกด้วย”

               นอกจากข้าวโพดแล้ว เสาวรส ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่โครงการนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก

“เดิมทีก็ไม่เคยปลูกเสาวรส  แต่พอโครงการมาส่งเสริม ก็เลยทดลองปลูก 30 ต้น ก็ให้ผลผลิตและรายได้ดี ซึ่งแตกต่างจากข้าวโพดที่ปีนึง เก็บผลแค่รอบเดียว แต่เสาวรสเก็บได้เรื่อยๆ ได้เงินเรื่อย เดือนนึงเก็บได้ 4 ครั้ง ชาวบ้านเห็นเขาก็สนใจปลูกด้วย ปีที่แล้วได้เงินประมาณ 10,000 บาท ปีนี้เลยปลูกเพิ่มเป็น 250 ต้น และชาวบ้านก็หันมาปลูกกันมากขึ้น”

        ลุงนันตา อาซุ่ง มีความเชื่อว่าโครงการหลวงจะต้องอยู่คู่กับชุมชนต่อไป เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้ดูแลตัวเองได้ ยังมีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่างในหมู่บ้านปางแดงในเอง เมื่อก่อน ครัวเรือนหลายครัวเรือนเป็นหนี้สิน เป็นหมื่น เป็นแสน แต่จากการมีโครงการขยายผลโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมในด้านอาชีพ ด้านการเกษตรและอื่นๆ ปัจจุบันชุมชนสามารถปลดหนี้ได้หมดแล้ว ด้วยการยึดหลังเศรษฐกิจพอเพียง


--------------------------------------------------------------------
ที่มา: นายพีระพล ดำงาม
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)





แนะนำองค์ความรู้
การเลี้ยงหมูหลุม

การเลี้ยงหมูหลุม

เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสุกรไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน และใช้ร่วมในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ


ผักคาวตอง

ผักคาวตอง

ผักคาวตองเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน ใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง แมลงสัตว์กัดต่อย พอกแก้ฝี และขับปัสสาวะ


มะม่วง

มะม่วง

โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกมะม่วงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ผ่านการวิจัยและให้ผลดี มีคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า 4 พันธุ์ คือ นวลคำ ปาล์มเมอร์ อาร์ทูอีทู เออร์วิน


พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 6

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 6

ตอนนี้ขอนำเสนอความงดงามของกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ลูกผสมในพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเทิดพระเกียรติ ให้ได้รู้จัก ร่วมกันส่งเสริม และอนุรักษ์พรรณไม้งามที่ทรงคุณค่าให้อยู่คู่แผ่นดิน และเรื่องราวของพระองค์ท่านสืบต่อไป



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน