โพสต์: 19 มิถุนายน 2556 อ่าน: 43,387 ครั้ง
ที่มารูป: www.universityobserver.ie/author/ethan-troy-barnes
|
Zero waste agriculture คืออะไร ทำได้ไหมบนพื้นที่สูง ?
|
เรื่อง : ภาคภูมิ ดาราพงษ์ ภาพ : อำพล สีบัณฑิตย์
การกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นคำจำกัดความของคำว่า Zero waste ที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ที่หลายๆประเทศเริ่มให้ความสนใจและผลักดันไปสู่วาระหรือนโยบายเร่งด่วนระดับชาติ ภายใต้สภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งประเทศเล็กๆในเอเซียอาคเนย์ นั่นก็คือ ประเทศไทย
ที่มาของ Zero waste
คำว่า Zero waste นั้นหากค้นตามเอกสารของ Wikipedia จะระบุว่า เกิดขึ้นในช่วงกลาง ค.ศ. 1970 โดยใช้เป็นชื่อของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Zero Waste Systems Inc. ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำธุรกิจการรีไซเคิลสารเคมีใช้แล้วจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยการกรองน้ำมันใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่จากอุตสาหกรรมผลิตแป้นพิมพ์ และจำหน่ายสินค้ารีไซเคิลในราคาที่ถูกกว่าของในท้องตลาด ซึ่งธุรกิจการรีไซเคิลของเสียนี้ได้ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก แม้กระทั่งหน่วยงานป้องกันมลพิษของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้พิมพ์เผยแพร่ผลงานของบริษัทนี้และตั้งฉายาให้กับบริษัทนี้ว่า “ผู้นำแลกเปลี่ยนของเสียที่ขยันและกระตือรือร้น” ซึ่งในเวลาต่อมาทางบริษัทก็เป็นผู้นำการออกแบบผลิตภัณฑ์แนวใหม่ที่ลดการเกิดของเสียและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันทั่วโลก จนกระทั่งในช่วงปี คศ. 1998-2003 กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้รูปแบบของ Zero waste เป็นสิ่งที่ทุกชุมชนต้องการ การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ Zero Waste ให้ใกล้เคียงกับความหมายของ “ของเสียเหลือศูนย์” ให้เป็นไปได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้จึงเป็นที่สนใจนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และจากแนวคิด Zero waste ที่เกิดในภาคอุตสาหกรรมทำให้ขยายต่อไปสู่ภาคการผลิตทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นฐานของการผลิตภาคการเกษตร ต่างให้ความสนใจและวิธีการตามแนวคิด Zero waste agriculture
Zero waste agriculture คือ ระบบการผลิตทางการเกษตรให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ จะว่าไปแล้วก็นับว่าเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในสภาวะปัจจุบันมีการเติบโตของประชาการอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก ทำให้อัตราการบริโภคมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แน่นอนว่าผลิตผลทางการเกษตรนั้นจัดว่ามีความต้องการอย่างมากในทุกภาคส่วนทั่วโลก เพราะสิ่งของเพื่อการบริโภคต่างๆล้วนมีพื้นฐานจากการผลิตภาคการเกษตรทั้งสิ้น แนวทางของการที่จะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการที่ไม่จำกัดนี้ มี 2 แนวทางที่ส่วนใหญ่นิยมทำกันคือ
1. การขยายพื้นที่ผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำปศุสัตว์ ฯลฯ 2. การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น
จากแนวทางทั้ง 2 ที่ทั่วโลกนิยมปฏิบัติอยู่นั้น จะเห็นว่าแนวทางที่ 2 คือการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้นนั้นจะเป็นสิ่งที่สามารถจะทำได้ อย่างมีระบบ และทำได้ง่ายกว่าแนวทางที่ 1 เพียงแต่จะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มากขึ้นด้วย
แนวทางการทำ Zero waste agriculture นั้นจะต้อง นี้จะต้องนำแนวทาง (Zero waste Management) หรือแนวคิดขยะเหลือศูนย์ มาประยุกต์ใช้ โดยยึดหลักการที่ว่า “ขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้” ยึดตามเป้าประสงค์คือ “การทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (residue)ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล” การจัดการขยะเหลือศูนย์เป็นการดำเนินการแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของ ผู้บริโภคให้เกิดความตระหนักและร่วมมือที่จะปฏิบัติตาม
กรอบแนวคิดขยะเหลือศูนย์ ประกอบด้วยหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น
1. ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด (minimizes residual waste) เช่น การลดการใช้ สารเคมีในการผลิตทางการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
2. การใช้วัตถุการผลิตที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด (maximizes recycling) เช่น การผลิตน้ำหมัก และปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
|
|
3. การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ใช้วัสดุการผลิตน้อย สร้างมลพิษน้อยลง) เช่น การใช้กระดาษบรรจุหีบห่อ หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกย่อยสลายได้
4. การประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์การการลดปัญหาขยะของเสีย เช่นการจัดงานรณรงค์ลดการใช้สารเคมี การตรวจคัดกรองโลหิตเกษตรกรเพื่อหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย รวมทั้งการตรวจสารเคมีตกค้างในผลิตผล
5. การพัฒนาการนำขยะกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้มากที่สุด เช่น การนำขยะอินทรีย์มาแปรรูปเป็น ปุ๋ยหมักโดยผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยไส้เดือนดิน
6. การช่วยยกระดับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเลี้ยงตัวเอง ได้ภายในชุมชน เช่น การส่งเสริมกระบวนการผลิตพืชผักให้ได้มาตรฐานแลปลอดภัย เป็น สากล สามารถจำหน่ายในตลาดที่หลากหลายทั้ง ตลาดชุมชน ตลาดห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
7. การสร้างงานให้กับชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น การส่งเสริมอาชีพเสริมการผลิตพืชผัก และปัจจัยการผลิตอินทรีย์ ผ่านรูปแบบกระบวนการกลุ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
จากตัวอย่างกรอบแนวคิดทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้จะต้องเริ่มมาจาก นโยบายการจัดการขยะเหลือศูนย์ ซึ่งได้ถูกนำไปปรับเปลี่ยนนโยบายตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ แต่จะมีแนวโน้มและทิศทางที่คล้ายคลึงกัน คือ การวางเป้าประสงค์ของนโยบายสาธารณะจากทุกภาคส่วน แตกต่างกันในกระบวนการทางนโยบายที่แต่ละประเทศให้น้ำหนักและคุณค่าแตกต่างกันไปในแต่ละภาคส่วน
|
ที่มารูป: www.uk-cpi.com
|
สำหรับในประเทศไทยแล้ว แนวคิดเรื่อง Zero waste agriculture เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทยยังคงเป็นไปตามตามกระแสของโลกคือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมไปถึงเกษตรเพื่อพลังงาน (Green Energy) เกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Environment) และเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว (Green Tourism) ซึ่งก็มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งไปสู่นโยบายของชาติที่กำหนดไว้
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มุ่งที่จะวิจัยและพัฒนางานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพี่น้องประชาชนบนพื้นที่สูง ได้นำเอารูปแบบในลักษณะของการจัดการด้านขยะให้เป็นศูนย์มาใช้บนพื้นที่สูงหลายแห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินงานในลักษณะของการวิจัยเพื่อพัฒนา (Research for Development) ไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงผ่านรูปแบบการบริหารจัดการในพื้นที่ที่เรียกว่าโครงการขยายผลโครงการหลวง ที่มีจำนวน มากกว่า 29 แห่งครอบคลุมพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งในครั้งนี้จะขอยกตัวอย่างพื้นที่ที่เริ่มดำเนินการตามแนวคิด Zero waste agriculture อย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
|
|
กรณีตัวอย่าง จุดเริ่มต้นของ Zero waste agriculture ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง |
1. รูปแบบการจัดการขยะมีพิษในรูปแบบสหกรณ์ ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงบ้านป่ากล้วย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่มากกว่า 50 หลังคาเรือน มีอาชีพการทำการเกษตร ด้วยการเพาะปลูกกะหล่ำเป็นหลัก ซึ่งในการเพาะปลูกนั้นย่อมต้องมีการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จำพวกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านที่นี่มีวิธีการจัดการขยะที่น่าสนใจคือการเอาขวดบรรจุสารเคมีที่แต่ละครัวเรือนใช้มาแลกสิ่งของพวกข้าวสารหรืออาหาร หรือ เงินสดกับทางสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งในสหกรณ์นี้จะมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์คอยให้คำแนะนำการใช้ และการปฏิบัติตัวเมื่อใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งแนะนำทางเลือกอื่นทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งขวดที่รวบรวมได้ก็จะมีการรวบรวมเพื่อกำจัดทำลายต่อไป เป็นการลดการกระจายของขวดบรรจุสารเคมีที่เรี่ยราดตามดอย และเป็นการประเมินสถานการณ์การใช้สารเคมีในพื้นที่ เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถวางแผนการดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมการใช้และการผลิตสารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในระยะต่อไป
2. รูปแบบการกำจัดขยะอินทรีย์รวมทั้งของเสียโดยการแปรสภาพขยะเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดีและก๊าชชีวมวล ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงบ้านห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำการเพาะปลูกพืชผักขายส่งพ่อค้าคนกลางและส่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยการเพาะปลูกจะเป็นไปในลักษณะแบบมีพันธสัญญา (Contract Farming) ทำให้มีปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืชเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเศษพืชที่เหลือจากการตัดแต่งผลผลิตที่มีเป็นจำนวนมาก และในพื้นที่บ้านห้วยเป้าชาวบ้านนิยมเลี้ยงสุกร เพื่อเป็นอาหารและส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง ทำให้มีมูลสุกรเป็นจำนวนมาก
|
|
จากปริมาณเศษพืชผัก และมูลสุกรที่มีจำนวนมากทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้ทดสอบและสาธิตการนำของเสียเหล่านี้มาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเศษพืชผักได้นำมาเป็นอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์สีแดงที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงใช้ในการปลูกผักในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป หรือ แม้แต่มูลสุกรที่มีปริมาณมากก็นำมาใช้เป็นแก๊สชีวภาพ (Biomass) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารในครัวเรือน
|
|
จากหลักการสู่การปฏิบัติจริง Zero waste สู่ชุมชนบนพื้นที่สูง เช่นเดียวกับคุณลุงสวัสดิ์ การะหงส์ ที่ผันตัวเองจากนักการเมืองท้องถิ่นมาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในหมู่บ้านห้วยเป้า เขตพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำปิงห้วยเป้า ที่มีระบบการเกษตรที่เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจกับผลผลิตพืชที่ออกสู่ตลาด โดยการใช้สารอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ “การใช้ไส้เดือนดินในการกำจัดขยะอินทรีย์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์” เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลลัพธ์ที่สูงมาก ลุงสวัสดิ์ เริ่มเลี้ยงไส้เดือนดินตั้งแต่ มกราคม 2556 นับรวมเวลาได้ 4 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และพันธุ์ไส้เดือนดินจากนักวิชาการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ลุง สวัสดิ์.ทำการเลี้ยงไส้เดือนดินในบ่อขนาด 3 ตารางเมตร ใช้พันธุ์ไส้เดือนดินเริ่มต้นจำนวน 3 กิโลกรัม ปัจจุบันนี้ได้ขยายบ่อเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 ตารางเมตร สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ที่เหลือจากการเกษตรได้ถึง สัปดาห์ละ 12 กิโลกรัม นอกจากจะสามารถกำจัดขยะอินทรีย์แบบไม่ต้องใช้แรงตัวเองแล้วยังเกิดผลพลอยได้อีก ได้แก่ น้ำหมักมูลไส้เดือนดินและมูลไส้เดือนดิน ที่เกิดจากกระบวนการจัดการขยะอินทรีย์ของเจ้าไส้เดือนดินตัวน้อยนั่นเอง
|
|
เมื่อมีสารอินทรีย์ที่ผลิตได้เอง ลุง จึงได้นำไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืชที่ปลูก โดยเฉพาะเสาวรสหวานที่ปลูกไว้หลายไร่ ในสวนใกล้บ้าน เป็นการลดต้นทุนการผลิต ปลอดภัย สบายใจได้หายห่วง ซึ่งน้ำหมักมูลไส้เดือนดินมีคุณสมบัติช่วยเร่งการออกดอกให้แก่พืช ทนทานต่อโรคพืช-แมลงได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้พืชตอบสนองต่อธาตุอาหารพืชที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดิน การจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือนดินในแบบฉบับที่ลุงสวัสดิ์ ได้ทำอยู่นั้นจึงถือได้ว่าเป็นกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อในชุมชน หรือเราอาจจะเรียกได้ว่า “Zero waste ชุมชนบนพื้นที่สูง”
จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ได้มุ่งที่จะจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่อง Zero waste agriculture ที่เน้นกระบวนการจัดการขยะของเสีย (Zero waste Management) ให้เหลือน้อยที่สุด จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว...ปัจจุบันได้ขยายผลครอบคลุมไป ชุมชนใกล้เคียง โดยวิทยากรเกษตรกร สอนเกษตรกรด้วยกันเอง เน้นการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง (Learning by doing) และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆนี้จะกระจายไปสู่จุดอื่นๆอีกนับร้อยนับพันจุด ต่อไป..เพื่อสร้างชุมชนสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ในประเทศที่อบอุ่นด้วยบารมีของในหลวงที่รักยิ่งของเราชาวไทยทุกคน...สวัสดี
|
----------------------------------------------------------------------
|
ภาคภูมิ ดาราพงษ์ |
คนทำงาน R&D (Reserch & Development) กับการเติบโตในสายงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรกว่า 10 ปี กับองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เช่น Danish International Development Agency (DANIDA) และ กรมวิชาการเกษตร ในสายงาน ส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้มแข็ง กลุ่มเกษตรกรในเขตภาคเหนือของเทศ และเป็นอดีต Trainer สร้างวิทยากรเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร (FFS: Farmer Field School) ของประเทศไทย
|
|