This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 6 สิงหาคม 2556     อ่าน: 17,665 ครั้ง




โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน
“โครงการพัฒนาทางเลือกเชิงบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น”


“เรามุ่งที่จะป้องกันการแพร่ระบาดการปลูกฝิ่นด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ให้พึ่งพาตนเองได้โดยใช้องค์ความรู้โครงการหลวงและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

        ปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นในอดีตของประเทศไทย เริ่มขึ้นมาร่วม 100 ปี โดยชาวเขาเผ่าต่างๆบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวจีนยูนาน ที่ทำการปลูกฝิ่นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศอังกฤษ   โดยมีการปลูกในบริเวณเขตแนวเทือกเขาติดต่อระหว่างไทย พม่า และอินโดจีน โดยเฉพาะในเขตรัฐฉาน จึงส่งผลให้กลุ่มผู้ปลูกฝิ่นส่วนใหญ่จึงเป็นชาวเขาเผ่าม้ง เย้า และกระจายไปยังชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยบนพื้นที่สูง ฝิ่นจึงกลายเป็นพืชรายได้ในตอนนั้น  โดยในปี พ.ศ. 2508 – 2509 ประเทศไทยพบมีการปลูกฝิ่นประมาณ 112,000 ไร่

        ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยะภาพที่ทรงมองการณ์ไกล ถึงปัญหาของยาเสพติดที่จะส่งผลเสียต่อประเทศในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2512 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาลดการปลูกพืชเสพติด และอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร  ส่งผลให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ  40 ปี จาก ปี พ.ศ. 2502 จนถึงปี พ.ศ.2542 จึงสามารถลดพื้นที่ปลูกฝิ่น จาก 112,000 ไร่ จนเหลือประมาณ 6,000ไร่ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ถอนชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่เป็นผู้ผลิต และลำเลียงยาเสพติดในปี พ.ศ. 2547

 

  



        จากคราวการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.)  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำเสนอสถานการณ์การปลูกฝิ่น ของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน  ซึ่งมีพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547  โดยในปีพ.ศ.2550  พบพื้นที่ปลูกฝิ่น จำนวน 1,800 ไร่  ซึ่งเพิ่มขึ้น จำนวน 1,056 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อย 59 จากปี พ.ศ.2547 พร้อมทั้งขอให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้าดำเนินการช่วยเหลือโดยเฉพาะการพัฒนาทางเลือกทดแทนการปลูกฝิ่น  โดยองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงจึงได้มอบให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รับไปดำเนินการ

        ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน  ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556) และมีหน่วยงานร่วมบูรณาการการพัฒนา รวม 22 หน่วยงาน  โดยแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

วัตถุประสงค์ของโครงการ


        “เพื่อขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวง โดยใช้แนวทางของโครงการหลวงและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการมุ่งเสริมสร้างอาชีพและรายได้บนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม และการลดปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานสู่การพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะการสร้างรากฐานที่มั่นคงของประเทศด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของฝิ่น  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง”

        โดยดำเนินงานในพื้นที่ครอบคลุม 115 หย่อมบ้าน ใน 15 ตำบล ของ 7 อำเภอ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก  ประชากรเป้าหมายรวม 4,425 ครัวเรือน  จำนวน 23,585 คน

 

ผลการดำเนินงานของโครงการที่สำคัญในระยะที่ผ่านมา


        1. หมู่บ้านเป้าหมาย มีแนวโน้มการปลูกฝิ่นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยประเมินจาก รัศมี 3 กิโลเมตร ของพื้นที่เป้าหมาย 115  หย่อมบ้าน ของ 10 ศูนย์ปฏิบัติการฯ โดยเริ่มแรก ปี 2552 พบพื้นที่ปลูก 754.18 ไร่ และปี 2555 ลดลงเหลือเพียง 522.8 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 40 และไม่พบพื้นที่ปลูกฝิ่นในพื้นที่ของหมู่บ้านเป้าหมาย  จำนวน 17 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่

        2. หมู่บ้านเป้าหมายที่ประชากรปลูกฝิ่นได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 68 บ้าน หรือคิดเป็น   ร้อยละ 59  ของหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด

        3. ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 7,296 ราย โดยเกษตรกรจำนวน 7,209 ราย ใน 68 บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 98 นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มจาก 33,635 บาท/ครัวเรือน/ปี (สวพส., 2552) เป็น 78,814.78 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.3 เท่าตัว

        4. ชุมชนเป้าหมาย จำนวน 68 ชุมชน มีแผนชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วม หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด  และผู้นำชุมชน  จำนวน 1,320 ราย ได้รับการพัฒนาและปรับเจตคติซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด

        5. หมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 68 บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.13 ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนตามแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ


-------------------------------------------

ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 2





แนะนำองค์ความรู้
ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด

ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด

ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮดใบมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นมัน เรียงซ้อนกันแน่นคล้ายดอกกุหลาบ และห่อหัวแบบ


เบาบับ..ต้นไม้มหัศจรรย์

เบาบับ..ต้นไม้มหัศจรรย์

“ต้นเบาบับ (Baobab Tree)” ต้นไม้ชื่อแปลกไม่คุ้นหูต้นนี้หลายคนคงนึกสงสัย แต่อันที่จริงเราอาจเคยรู้จักต้นเบาบับมาแล้ว หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Lion King คงจะจำภาพต้นไม้ประหลาดที่ตัวละครชื่อ Rafikiได้


เฮลิโคเนีย

เฮลิโคเนีย

เฮลิโคเนียเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ต้องการดูแลรักษาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่น เป็นที่นิยมในวงการตกแต่งสวน


สมุนไพรน่ารู้

สมุนไพรน่ารู้

สมุนไพร เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน บางชนิดอาจพบเห็นได้ยากง่ายต่างกันไป และแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้รักษากันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย...



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน