โพสต์: 4 กันยายน 2556 อ่าน: 9,564 ครั้ง
|
โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม "ชุมชนนี้ ไม่มีเผา"
|
ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนช่วงฤดูแล้งของทุกปี ไม่เพียงส่งผลต่อกระทบสุขภาพประชาชนในทุกพื้นที่ที่หมอกควันปกคลุมถึง แต่การเผาป่ายังทำให้หน้าดินในพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซากขาดความสมบูรณ์และพังทลาย มีผลต่อการปลูกพืชแทบทุกชนิดในอนาคต ซึ่ง จ.น่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกชี้เป้าเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก โดยรั้งสถิติอันดับ 3 จาก 9 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ชาวไร่ข้าวโพดจะพร้อมใจเผาซังข้าวโพดและเศษวัชพืชอื่นๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพดครั้งต่อไป การเผาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกินบริเวณกว้างทั่วทั้งจังหวัด ทำให้หมอกควันแผ่ขยายปกคลุม จ.น่าน ซึ่งแค่ช่วงระยะเวลาเดือนมีนาคม มีผู้ป่วยด้วยโรคปอด ทางเดินหายใจ และภูมิแพ้ ทยอยเข้าโรงพยาบาลน่านกว่า 8,000 ราย เฉลี่ยวันละ 300 ราย
ชุมชน ต.แม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน กลับมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งแทบจะไม่มีการเผาเลย ไม่ว่าจะเผาวัชพืชหรือเผาป่าก็ตาม ด้วยการร่วมมือของชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ บวกกับความตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมา หนึ่งในหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือเน้นเรื่องการไม่เผาคือ โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม
โครงการขยายผลโครงการหลวงแม่จริม ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งแต่เข้าดำเนินการคลอบคลุม 3 หมู่บ้านในเขตตำบลแม่จริม แต่ปัจจุบันได้ขยายดูแลเกษตรกรทั้ง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาหมัน บ้านตอง บ้านตองเจริญราษฎร์ บ้านบอน บ้านฝาย และบ้านก้อ มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 2,322 คน ลักษณะภูมิประเทศเป็นเชิงเขาสลับกับที่ราบเชิงเขา มีสูงความจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
|
|
การดำเนินงานของศูนย์ขยายผลฯ เน้นการส่งเสริมเกษตรกรด้านการเกษตร อาชีพ ชุมชน มีแปลงสาธิตและจุดเรียนรู้ภายในศูนย์ ทั้งยังพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น แปลงผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์ในชุมชนเพื่อง่ายแก่การศึกษาเรียนรู้กันระหว่างบ้านใกล้เคียง มีโครงการจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่ เช่น โครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและจัดการธาตุอาหารพืช โครงการทดสอบและสาธิตเทคโนโลยีการปลูกไม้ผล โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการแปรรูปหวายในระดับชุมชน เป็นต้น
|
|
หนึ่งในภารกิจของโครงการคือการรณรงค์ให้ชุมชนที่นี่ลดการเผา ผ่านการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกถั่วเหลืองหลังนา (พันธ์เชียงใหม่ 60 ) โดยไม่ไถพรวน ไม่เผาฟาง ซึ่งมีการทดลองให้เห็นว่าการเผากับไม่เผานั้นให้ผลต่างกันอย่างไร จากการปลูกถั่วเหลืองแบบไม่เผาให้ผลผลิตที่ดีกว่ามากและชาวบ้านเข้าใจ จึงปฏิบัติตาม มีการอบรมเรื่องการดูแล การเก็บเกี่ยว พาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นและนำมาปรับใช้ มีการให้ความรู้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรถั่วเหลือง เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางและมีระบบจัดการที่ดี โครงการยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับกลุ่มเกษตร ซึ่งปัจจุบันในเขตอำเภอแม่จริมมีพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองหลังนากว่า 1,500 ไร่ และจะเพิ่มเป็น 2,000 ไร่ ในปี 2557 ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี
จากการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่มุ่งจะทำให้ชุมชนแม่จริมเป็นชุมชนปลอดการเผา สวพส. ได้ร่วมกับหน่วยงานจัดงาน "รณรงค์ลดหมอกควันจากการเผา" ในพื้นที่บ้านนาหมัน ต.แม่จริม ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่าน ภายในงานได้เชิญเกษตรกรหลายอำเภอกว่า 600 คน ใน จ.น่าน เข้าชมพื้นที่สาธิตที่บ้านนาหมัน พร้อมจัดผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้ไขข้อสงสัยตามแปลงสาธิตต่างๆ อย่างละเอียดครบทุกขั้นตอน การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนและเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วการทำคันปุ๋ยจากวัชพืชและตอซังข้าวโพด การปลูกข้าวระบบน้ำน้อย การทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การปลูกผักต่างๆ โดยใช้เศษวัชพืชคลุมแปลง การเพาะเห็ดฟางจากซังข้าวโพดและฟางข้าว เป็นต้น ซึ่งโครงการขยายผลโครงการหลวงใน ได้จัดทำในพื้นที่จริงเพื่อให้เกษตรกรเห็นว่าทำได้จริง
|
|
จากการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่มุ่งจะทำให้ชุมชนแม่จริมเป็นชุมชนปลอดการเผา สวพส. ได้ร่วมกับหน่วยงานจัดงาน "รณรงค์ลดหมอกควันจากการเผา" ในพื้นที่บ้านนาหมัน ต.แม่จริม ขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่าน ภายในงานได้เชิญเกษตรกรหลายอำเภอกว่า 600 คน ใน จ.น่าน เข้าชมพื้นที่สาธิตที่บ้านนาหมัน พร้อมจัดผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้ไขข้อสงสัยตามแปลงสาธิตต่างๆ อย่างละเอียดครบทุกขั้นตอน การปลูกข้าวโพดโดยไม่ไถพรวนและเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่วการทำคันปุ๋ยจาก วัชพืชและตอซังข้าวโพด การปลูกข้าวระบบน้ำน้อย การทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การปลูกผักต่างๆ โดยใช้เศษวัชพืชคลุมแปลง การเพาะเห็ดฟางจากซังข้าวโพดและฟางข้าว เป็นต้น ซึ่งโครงการขยายผลโครงการหลวงใน ได้จัดทำในพื้นที่จริงเพื่อให้เกษตรกรเห็นว่าทำได้จริง
|
|
-------------------------------------------
ที่มา: วารสาร สวพส. ฉบับที่ 2
|