This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 24 กันยายน 2555     อ่าน: 30,370 ครั้ง


This text will be replaced

การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 1


        ไฟป่า คือ ไฟที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วลุกลามไปได้โดยอิสระปราศจากการควบคุมทั้งนี้ ไม่ว่าไฟนั้นจะเกิดขึ้นในป่าธรรมชาติหรือสวนป่าก็ตาม

        การเกิดไฟป่าในประเทศไทยส่วนมากมีสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ  สังคม ทำให้ประชาชนต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ซึ่งมีกิจกรรมที่ต้องจุดไฟในพื้นที่ป่าหลายรูปแบบ ทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน ในการช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า

 

ไฟป่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

       
        ไฟป่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบที่จำเป็น 3 ประการคือ เชื้อเพลิง ออกซิเจน  และความร้อน มารวมตัวกันในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะเกิดการลุกไหม้

1) เชื้อเพลิง ได้แก่ อินทรีย์สารทุกชนิดที่ติดไฟได้ เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ ตอไม้ กอไผ่ ลูกไม้ หญ้า วัชพืช รวมไปถึงดินอินทรีย์ (peat soil) และชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ ผิวดิน (coal seam)

2) ออกซิเจน ออกซิเจนเป็นก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลักของอากาศทั่วไปในป่า จึงมีการกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ปริมาณและสัดส่วนอาจแปรผันได้ตามความเร็วและทิศทางลม

3) ความร้อน แหล่งความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่า แบ่งเป็น 2 ประการ คือ แหล่งความร้อนจากธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ การรวมของแสงอาทิตย์ผ่านหยดน้ำค้าง ภูเขาไฟระเบิดและแหล่งความร้อนจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการจุดไฟในป่าด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน


สาเหตุของการเกิดไฟป่า


ไฟป่าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

1) เกิดจากธรรมชาติ ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน  ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่อง ผ่านหยดน้ำ ปฏิกิริยาเคมีในดิน   ป่าพรุ การลุกไหม้ตัวเองของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น

2) เกิดจากมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ สำหรับประเทศไทยถือได้ว่า ไฟป่าทั้งหมดเกิดจากการกระทำของ
มนุษย์ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ กันไป ได้แก่

2.1) เก็บหาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่า ได้แก่ ไข่มดแดง เห็ด ใบตองตึง ไม้ไผ่ น้ำผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืน การจุดไฟ ส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นที่ป่าโล่งเดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ ของผักหวานและใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า

2.2) เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว  ทั้งนี้  เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไปโดยปราศจากการทำแนวกันไฟ และปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

2.3) แกล้งจุด ในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกิน หรือถูกจับกุมจากการกระทำผิดในเรื่องป่าไม้ ก็มักจะหาทางแก้แค้นเจ้าหน้าที่ด้วยการเผาป่า

2.4) ความประมาท เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นป่า เป็นต้น

2.5) ล่าสัตว์ โดยใช้วิธีไล่เหล่า คือจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่างๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนกอีกทอดหนึ่ง หรือจุดไฟเผา  ทุ่งหญ้าเพื่อให้หญ้าแตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่ายมากินหญ้าแล้วดักรอยิงสัตว์นั้น

2.6) เลี้ยงปศุสัตว์  ประชาชนที่เลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ มักลักลอบจุดไฟเผาป่าให้โล่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์

2.7) ความคึกคะนอง บางครั้งการจุดไฟเผาป่าเกิดจากความคึกคะนองของผู้จุดโดย  ไม่มีวัตถุประสงค์ใด ๆ แต่จุดเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

 


ชนิดของไฟป่า

       
        การแบ่งชนิดของไฟป่า ถือเอาการไหม้เชื้อเพลิงในระดับต่างๆ ในแนวดิ่ง ตั้งแต่ระดับชั้นดินขึ้นไปจนถึงระดับยอดไม้เป็นเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ไฟใต้ดิน ไฟผิวดินและไฟเรือนยอด

1. ไฟใต้ดิน (Ground Fire) คือ ไฟที่ไหม้อินทรียวัตถุที่อยู่ใต้ชั้นผิวของพื้นป่า ไฟชนิดนี้อาจไหม้แทรกลงไปใต้ผิวพื้นป่าได้หลายฟุตและลุกลามไปเรื่อยๆ ใต้ผิวพื้นป่าในลักษณะการคุกรุ่นอย่างช้าๆ ไม่มีเปลวไฟและมีควันน้อยมาก จึงเป็นไฟที่ตรวจพบหรือสังเกตพบได้ยากที่สุด และเป็นไฟที่มีอัตราการลุกลามช้าที่สุด แต่เป็นไฟที่สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ป่าไม้มากที่สุด เพราะไฟจะไหม้ทำลายรากไม้ ทำให้ต้นไม้ใหญ่น้อยทั้งป่าตายในเวลาต่อมา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นไฟที่ควบคุมได้ยากที่สุดอีกด้วย

2. ไฟผิวดิน (Surface Fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามไปตามผิวดิน โดยเผาไหม้เชื้อเพลิงบนพื้นป่า อันได้แก่ ใบไม้ กิ่งก้านแห้งที่ตกอยู่บนพื้นป่า หญ้า ลูกไม้เล็กๆ  ไม้พื้นล่าง กอไผ่ ไม้พุ่ม ไฟชนิดนี้เป็นไฟที่พบมากที่สุดและพบโดยทั่วไปในแทบทุกภูมิภาคของโลก ความรุนแรงของไฟจะขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทย ไฟป่าส่วนใหญ่จะเป็นไฟชนิดนี้ หากสามารถตรวจพบได้ในขณะเพิ่งเกิด และส่งกำลังเข้าไปควบคุมอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถควบคุมไฟได้โดยไม่ยากลำบากนัก แต่หากทอดเวลาให้ ยืดยาวออกไปจนไฟสามารถแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างมากเท่าใด การควบคุมก็จะยากขึ้นมากเท่านั้น

3. ไฟเรือนยอด (Crown Fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามจากยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มต้นหนึ่งไปยังยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มอีกต้นหนึ่ง ไฟชนิดนี้มีอัตราการลุกลามที่รวดเร็วมาก และเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับพนักงานดับไฟป่า ทั้งนี้เนื่องจากไฟมีความรุนแรงมาก โดยเท่าที่ผ่านมาปรากฏว่ามีพนักงานดับไฟป่าจำนวนไม่น้อยถูก ไฟชนิดนี้ล้อมจนหมดทางหนีและถูกไฟคลอกตายในที่สุด

 

การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 1
การป้องกันไฟป่า ตอนที่ 2

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก: tktadventure.blogspot.com, kkp.ac.th, siamvolunteer.com


ที่มา: องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

วิดีโอบน YouTube http://youtu.be/8oFvEvD2fLA





แนะนำองค์ความรู้
หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อมไม้ฝรั่งมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะ Amino succinamic หรือ asparagines นอกจากนี้ยังมีวิตามิน B C และแคโรทีนสูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด


ซิมบิเดียม

ซิมบิเดียม

ซิมบีเดียมเป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาศึกษาการปลูกเลี้ยงบนที่สูงตั้งแต่ พ.ศ.2515 เพื่อศึกษาและทดลองปลูกเลี้ยง


พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 1

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 1

กันภัยมหิดลเป็นไม้ประจำถิ่นของไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งพบครั้งแรกโดยอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) ที่น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี


ผักเฮือด

ผักเฮือด

ผักเฮือดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสกุลเดียวกับไทรและมะเดื่อ ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน