โพสต์: 28 ธันวาคม 2555 อ่าน: 2,072 ครั้ง
ธันวาคม
13
|
การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนปฏิบัติงานแบบบูรณาการของโครงการขยายผลโครงการหลวง และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 วันที่ 13 ธันวาคม 2555 ณ ห้องสันพระเนตร โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่
|
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขยายผลโครงการหลวง และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการของโครงการขยายผลโครงการหลวง และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดกิจกรรมในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวง และแผนปฏิบัติการโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 นายอินทร มาสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและสารสนเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เผยถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่า นับตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงเมื่อ พ.ศ. 2512 ปัจจุบันผลงานวิจัยและพัฒนาของโครงการหลวงเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ โครงการหลวงถือได้ว่าเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่สูง สมควรอย่างยิ่งที่องค์ความรู้เหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้และการนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นตามความเหมาะสมของสภาพภูมิสังคม เพื่อให้ผลงานของโครงการหลวงเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น จากผลสำเร็จของโครงการหลวงในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกพืชเสพติด และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารดังกล่าว ประชาชนบนพื้นที่สูงและหน่วยงานต่างๆ ได้แจ้งขอรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการหลวงเป็นจำนวนมาก ประธานมูลนิธิโครงการหลวงจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงรับผิดชอบดำเนินการในส่วนของโครงการขยายผลโครงการหลวง ซึ่งปัจจุบัน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ดูแลรับผิดชอบโครงการขยายผลโครงการหลวง 29 พื้นที่ และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน 10 พื้นที่ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากโครงการหลวงไปขยายผลในพื้นที่ดังกล่าว
นายอินทร มาสุวรรณ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ใช้ลุ่มน้ำเป็นขอบเขตการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Approach) เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการพัฒนาเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง เพื่อสร้างดุลยการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆกัน โดยใช้ยุทธวิธีการพัฒนาแบบ Growth Center มีหมู่บ้านหรือชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นหมู่บ้านเครือข่ายการพัฒนา (Satellite Village) ใช้สถานี/ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเป็นศูนย์เรียนรู้ (Knowledge Center) ในขณะเดียวกันจะใช้สำนักงานโครงการขยายผลโครงการหลวงในชุมชนที่มีอยู่เดิมเป็นกลไกในการปฏิบัติงานในระดับลุ่มน้ำ ทั้งในระดับลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขา
|
|
ข่าวประชาสัมพันธ์ : กัลยาณี วรรณศรี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
|