This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 26 มีนาคม 2556     อ่าน: 3,514 ครั้ง

มีนาคม

22



คณะทูตเกษตรต่างประเทศเยี่ยมชมงานโครงการหลวงและโครงการขยายผลโครงการหลวง
และประชุมหารือความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
วันที่ 22 – 24 มีนาคม 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่


        ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ และกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) เดินทางมาเยี่ยมชมงานโครงการหลวงและโครงการขยายผลโครงการหลวง รวมทั้งประชุมหารือความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2556

        หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เสด็จเป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556 ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ โดยมี ดร. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง บรรยายเกี่ยวกับแนวทางในการสนับสนุนงานมูลนิธิโครงการหลวงของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ  นายสุทัศน์ ปลื้มปัญญา หัวหน้าฝ่ายพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง บรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจโครงการหลวงและความเชื่อมโยงระหว่างโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และดร. ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง บรรยายสรุปภารกิจสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในโอกาสนี้ คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และโครงการขยายผลโครงการหลวงปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง ณ ร้านค้ามูลนิธิโครงการหลวง สาขาถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ผลผลิตโครงการหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ด้วย

        นางตริตาภรณ์ โขมพัตร อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสหภาพยุโรป กล่าวถึงการเดินทางมา  ครั้งนี้ว่า “ได้รับความรู้และเข้าใจถึงภารกิจของโครงการหลวง และความเชื่อมโยงระหว่างโครงการหลวงกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมากขึ้น ได้เห็นภาพการทำงานจริงๆ ได้รู้จักผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเวลาประสานงานระหว่างกัน ไม่เคยเห็นหน้ากัน คราวนี้ได้รู้ว่าใคร ทำอะไร อยู่ตรงไหน ส่วนที่ว่าจะนำไปเผยแพร่อย่างไร มีสองส่วน ส่วนหนึ่ง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระราชกรณียกิจของในหลวง เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้รับทราบว่าพระองค์ท่านทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้าง  ในแง่ของการทดแทนการปลูกฝิ่นด้วยพืชผักเมืองหนาว  อีกอย่างหนึ่งคือ เราจะทำหน้าที่เหมือนเป็นด่านแรกที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการต่างประเทศ นอกจากประชาสัมพันธ์แล้ว เราจะขายสินค้าของเรา อีกเรื่องหนึ่งคือ เรารู้ว่าเราจำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของเราอย่างไร คือเราจะเป็นคนไปสร้างความสัมพันธ์ หาแหล่งความรู้ เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ  ให้กับโครงการหลวงและสถาบันต่อไป เข้าใจบทบาทของตัวเองมากขึ้นว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง”

        นายอดิศร พร้อมเทพ อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า “ประทับใจกับการต้อนรับ จัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ และจัดโปรแกรมได้ครอบคลุม เน้นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการติดต่อกับหน่วยงานต่างชาติ ในเรื่องของเทคโนโลยี และงานวิจัยที่จะประสานงานกับโครงการหลวง สำหรับเรื่องสินค้า คงต้องไปดูอีกครั้ง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ไกลมาก ไม่ง่ายที่จะส่งของไป เพราะต้นทุนการขนส่งสูงมาก เพราะฉะนั้นคงต้องดูอย่างละเอียดว่าจะมีสินค้าอะไรที่จะมีศักยภาพที่จะส่งไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งคงจะต้องทำงานร่วมกับโครงการหลวงต่อไป”

        นายสมพงษ์ นิ่มเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง  กล่าวว่า “ประทับใจในการต้อนรับ และการจัดการต้อนรับคณะได้อย่างอบอุ่น มีประสิทธิภาพ มีความประทับใจมาก ทั้งในส่วนของการจัดประชุม มีสาระที่ครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องที่จะมีการสนับสนุนและส่งเสริม ทั้งงานวิจัยและงานส่งเสริมประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการหลวง รวมทั้งสินค้าต่างๆ ของโครงการหลวง เป็นการให้ความรู้ที่ทำให้เราเข้าใจระบบการทำงานระหว่างโครงการหลวงกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในส่วนของสำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย การรวบรวมพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่จะนำมาวิจัย พัฒนา และส่งเสริมให้ชาวบ้านในไทยได้นำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มรายได้ของเกษตรกร เช่น พันธุ์ไผ่ พันธุ์แพะนมเหลาซาน พันธุ์หมูจินหัว หมูเหมยซาน ยินดีสนับสนุน รวมทั้ง การที่คณะมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จะไปหารือเจรจาเพื่อหาแนวทางความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กับมหาวิทยาลัยและเกษตรกรในจีน รวมทั้งการจัดแสดงงานพืชผัก ผลไม้ที่สำคัญๆ ในประเทศจีน เพื่อนำมาต่อยอดในประเทศไทย โดยเฉพาะที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ขอขอบคุณทั้งในส่วนของมูลนิธิโครงการหลวง  สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ให้การต้อนรับและดูแลพวกเราเป็นอย่างดี”
     
        สำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบัน  มีทั้งสิ้น 7 แห่ง และกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) 1 แห่ง ได้แก่ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ประเทศอิตาลี ประจำสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย และกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำนครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีภารกิจรับผิดชอบในด้านต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนงานตามนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านมาตรการที่มิใช่ภาษีของสินค้าเกษตร รวมทั้งร่วมมือและให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเจรจาในองค์กรระหว่างประเทศ หรือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล องค์กรต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตรของไทย เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เพิ่มกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) อีก 2 แห่ง ที่ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

    

 

 

 

 

 




กิจกรรมอื่นๆ

แนะนำองค์ความรู้
ระบบการเพาะปลูกที่ดี (ไม้ผล)

ระบบการเพาะปลูกที่ดี (ไม้ผล)

การปลูกไม้ผลเป็นอาชีพสำคัญ ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน


ซิมบิเดียม

ซิมบิเดียม

ซิมบีเดียมเป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาศึกษาการปลูกเลี้ยงบนที่สูงตั้งแต่ พ.ศ.2515 เพื่อศึกษาและทดลองปลูกเลี้ยง


ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด

ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด

ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮดใบมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นมัน เรียงซ้อนกันแน่นคล้ายดอกกุหลาบ และห่อหัวแบบ


พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 5

พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ 5

พรรณไม้งามที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระนามาภิไธย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีหลายชนิด ในโอกาสนี้จะได้นำเสนออีก 3 ชนิด ได้แก่ โมกราชินี มหาพรหมราชินี และบัว ควีนสิริกิติ์



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน