This is an example of a HTML caption with a link.
 

โพสต์: 13 มิถุนายน 2555     อ่าน: 19,050 ครั้ง


ไส้เดือนดินกับการพัฒนาพื้นที่สูง


                                                                   ภาคภูมิ ดาราพงษ์  เรียบเรียงและรวบรวม


       
จากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ระบุว่าภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่สูงถึง 96,255 ตารางกิโลเมตรหรือ 64 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ มีประชากรชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ถึง 1.2 ล้านคน กระจายตัวอยู่ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตคงหนีไม่พ้นในเรื่องของความมั่นคงและยาเสพติด


       จนกระทั่งโครงการหลวงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการหลวงเพื่อ ลดการปลูกฝิ่นของชาวเขา พัฒนาความเป็นอยู่ของชาวเขา เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร และในปี พ.ศ.2535 โครงการหลวงจึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นมูลนิธิโครงการหลวงที่มีการดำเนินงานมุ่งการวิจัย พัฒนา เพื่อนำไปสู่การตลาด ด้วยปณิธานที่ว่า “โครงการหลวง   ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา  ช่วยชาวโลก ”


       จวบจนปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 40 ปี แล้วที่โครงการหลวงได้อยู่คู่กับพี่น้องชาวเขาบนพื้นที่สูงในการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิต ให้มีความอยู่ดีกินดี ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่มีการแข่งขันสูงทั้งการผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้น และการตลาด รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปัญหาสิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจและร่วมมือกันในการคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก คือ ปัญหาการกำจัดขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและชุมชน เช่น เศษอาหาร เศษผักและผลไม้ ฯลฯ ซึ่งหากนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการตามมาในภายหลัง เช่น แมลงวัน แหล่งเพาะเชื้อโรค กลิ่นเน่าเหม็น น้ำเน่าเสีย ปัญหาขยะล้นเมือง และที่สำคัญคือ ปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบกับคนทั่วโลก ดังนั้น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดการขยะอินทรีย์จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้และเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์ของมูลนิธิโครงการหลวง ก็คือ การใช้ไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์และได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินเพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อไปโดย รศ.อานัฐ  อานัฐ  ตันโช อาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวง และท่านยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้


         
จะเห็นว่าจากความสำเร็จดังกล่าวสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) หรือที่เรารู้จักกันว่า สวพส.จึงได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ในพื้นที่สูงของประเทศโดยเฉพาะใน พื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง 27 แห่ง และพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง   หรือที่รู้จักกันในนาม ศศช.อีก 8 แห่ง


ความสำคัญของไส้เดือนดิน


        
ไส้เดือนดินถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าสัตว์ที่เป็นโทษต่อมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยช่วยพลิกกลับดิน ทำให้เกิดการผสมคลุกเคล้าแร่ธาตุในดิน อีกทั้งยังเป็นการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุอาหารต่างๆ อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพิ่มและกระจายจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพราะการชอนไชของไส้เดือนดินทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำ และอากาศดีขึ้น  ที่สำคัญไส้เดือนดินจัดเป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม (bio-index) ในการชี้วัดถึงการ ปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดิน เนื่องจากไส้เดือนดินมีไขมันที่สามารถดูดซับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางกลุ่มได้ ทำให้ไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัดถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในดินได้ดี


        
เราสามารถแบ่งประเภทไส้เดือนดินออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.ไส้เดือนดินสีเทาหรือขี้คู้เป็นไส้เดือนที่มีลำตัวขนาดใหญ่ สีเทา ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว อาศัยอยู่ใต้ดิน ขุดรูอยู่ในชั้นดิน ค่อนข้างลึก พบได้ในสวนผลไม้ หรือในสนามหญ้า กินอาหารน้อย ผลิตถุงไข่น้อย 2. ไส้เดือนดินสีแดงหรือขี้ตาแร่ ลำตัวมีสีแดงออกม่วง มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-5 นิ้ว


       อาศัยอยู่บริเวณผิวดิน ในมูลสัตว์หรือ กองเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยที่มีความชื้นสูง กินอาหารเก่ง ผลิตถุงไข่มาก เหมาะสำหรับใช้ย่อยสลายขยะอินทรีย์


       ในปัจจุบันมีการจำแนกไส้เดือนดินทั่วโลกได้ 4,000 กว่าชนิด สายพันธุ์ที่นำมาใช้กำจัดขยะอินทรีย์ทางการค้ามีประมาณ 15 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในขยะอินทรีย์และมูลสัตว์ เช่น พันธุ์ Pheretima peguana หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ขี้ตาแร่”


          ในประเทศไทยมีสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่สามารถนำมาใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ สายพันธุ์ Pheretima peguana (ขี้ตาแร่) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปใต้กองมูลสัตว์ โดยเฉพาะในฟาร์มโคนม สายพันธุ์นี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถแพร่ขยายพันธุ์เจริญเติบโตได้เร็วมาก และเมื่อนำมาเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ พบว่า สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ดีมากเช่นเดียวกับสายพันธุ์ทางการค้าอื่นๆ ดังนั้นการกำจัดขยะอินทรีย์ในประเทศไทย การเลือกใช้ Pheretima peguana (ขี้ตาแร่) จึงนับว่ามีความเหมาะสมมาก


          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการทดสอบและสาธิตเทคโนโลยีโครงการหลวง จึงมีแผนการสาธิตการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน-ดิน ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง จำนวน 27 พื้นที่ รวมทั้งพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่จากการค้นคว้าวิจัยของโครงการหลวงไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เพื่อช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติของเกษตรกรในท้องถิ่น และเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่ใกล้เคียงนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป  ปัจจุบันโครงการหลวงได้พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดินนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพืช ลดการปุ๋ยเคมีในการปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืชผักและพืชผักอินทรีย์      อันจะนำไปสู่การผลิตพืชที่ปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกร  ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมต่อไป


         และจากการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550-2554) สรุปได้ว่าไส้เดือนดินสีแดงหรือขี้ตาแร่พันธุ์ (Pheretima Peguana) ซึ่งสามารถเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ได้ในพื้นทีโครงการขยายผลโครงการหลวง 27 แห่ง และพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) อีก 8 แห่ง ตั้งแต่พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 – 1,200 เมตร สามารถผลิตน้ำหมักมูลไส้เดือนดินและปุ๋ยมูลไส้เดือนดินได้


        โดยน้ำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงต้นพืชและเพิ่มธาตุอาหารทางดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชในแปลงปลูกพืชของตนเองหรือชุมชนของตนเองได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการปลูกพืชอีกทางหนึ่งด้วย 


ไส้เดือนดินช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร


        ไส้เดือนดินนอกจากจัดเป็นดัชนีชี้วัดทางสิ่งแวดล้อม (bio-index) ในการชี้วัดถึงการ ปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดินแล้วสิ่งที่ได้จากการย่อยสลายจากไส้เดือนดินก็คือน้ำหมักมูลไส้เดือนดินและปุ๋ยไส้เดือนดินซึ่งปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจัดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดชนิดหนึ่งเมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินเกิดจากการที่ไส้เดือนดินกินวัสดุอินทรีย์ที่กำลังเน่าสลายแล้วขับถ่ายเป็นมูลออกมา โดยมูลจะมีลักษณะคล้ายกับดินที่มีสีดำเข้มเป็นเม็ดร่วน ทนทานต่อการชะล้างของน้ำ เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูก หรือใช้เพื่อปรับปรุงดิน เพราะปริมาณอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง เนื่องจากไส้เดือน-ดินและจุลินทรีย์ในลำไส้ของไส้เดือนดินจะช่วยเปลี่ยนแปลงรูปธาตุอาหารพืชที่เป็นโมเลกุลใหญ่เปลี่ยนเป็นธาตุอาหารพืชในรูปที่เป็นประโยชน์พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที และที่สำคัญปัจจุบันมีขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและการเกษตร เช่น เศษผัก ผลไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมเมื่อนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่ถูกวิธี แมลงวัน กลิ่นเหม็น เน่าเสีย ล้วนแล้วแต่เป็นผลของการสลายตัวของผักอินทรีย์ที่มีการจัดการแบบไม่ถูกวิธี การนำวัสดุต่างๆเหล่านี้ มาเป็นอาหารให้ไส้เดือนภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการนำสารอินทรีย์ในระบบการผลิตกลับมาใช้ใหม่ โดยจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงจำนวนมาก ,อานัฐ ตันโช (2550)


        นอกจากนี้หากเราจะมองปัญหาภาวะโลกร้อน(Global warming) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในสถานการณ์วิกฤติ เช่นนี้ จะเห็นว่าปัญหาเรื่องขยะโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งขณะนี้หลายๆประเทศได้เริ่มตื่นตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการใช้ไส้เดือนดินเพื่อการกำจัดขยะอินทรีย์อย่างจริงจังก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากไส้เดือนดินจะเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนของเสีย(Waste) ไปอยู่ในรูปของน้ำหมัก (Water the compost worms) และปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน(Vermicompost) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผลลัพธ์จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อไปได้ นอกจากนี้ยังพบว่า มูลที่ไส้เดือนดินถ่ายออกมาสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงรักษาต้นไม้ได้ และกระบวนการย่อยขยะอินทรีย์ของไส้เดือนดินจะไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน ในขณะที่การกำจัดขยะอินทรีย์วิธีอื่นจะใช้เวลานาน บางวิธียังส่งผลให้เกิดมลภาวะและมีกลิ่นเหม็นอีกด้วย (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2547)


         
จากผลสำเร็จที่ รศ.อานัฐ  ตันโช  ได้คิดค้นและนำไปใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์กับทางมูลนิธิโครงการหลวง  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่สูงทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายผลโครงการหลวง และศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง (ศศช.) จำนวน 35 แห่ง และจะขยายเครือข่ายการเรียนรู้และการนำองค์ความรู้เรื่องการกำจัดขยะอินทรีย์ไปสู่พื้นที่สูงอื่นต่อไป

------------------


เอกสารอ้างอิง

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 2547. เร่งเพาะพันธุ์ ‘ไส้เดือนดิน’ ให้เทศบาลกำจัดขยะ. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547. [Online].


Available : http://www.ipst.ac.th/biology/Bio-Articles/mag-content37.html


อานัฐ  ตันโช. 2550. ไส้เดือนดิน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. ปทุมธานี.  259 หน้า.

ดาวน์โหลดเอกสาร




งานวิจัยอื่นๆ

สรุปผลการดำเนินงานวิจัย
รายการทรัพย์สินทางปัญญาของ สวพส.
แนะนำองค์ความรู้
กระเทียมต้น

กระเทียมต้น

กระเทียมต้นจัดอยู่ในวงศ์ Alliaceae (Amaryllidaceae) มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอเรเนียน


การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าชนเผ่าลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ

การทอผ้าของลาหู่เชเละหรือมูเซอดำ มีลักษณะการทอแบบคาดหลัง คล้ายชาวเขาส่วนใหญ่ในประเทศไทย แต่แตกต่างกันในลักษณะการเก็บตะกอ...


ผักเฮือด

ผักเฮือด

ผักเฮือดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสกุลเดียวกับไทรและมะเดื่อ ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว


ไฮเดรนเยีย

ไฮเดรนเยีย

“ไฮเดรนเยีย ช่อชั้น หลากสี พื้นถิ่นไม้หนาวนี้ พรั่งพร้อม งดงามอุทยานที่ ราชพฤกษ์ ขาวม่วงชมพูล้อม อีกฟ้างามตา”



ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ ระบบเว็บเมลสถาบัน ระบบขอรับบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเครือข่ายภายในสถาบัน