การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าจากฐานความรู้โครงการหลวงผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือน ที่ผ่านมาเกษตรกรประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวไร่ อ้อย ถั่วเหลือง พริกกะเหรี่ยง มีพื้นที่บางส่วนที่ใช้ปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ กาแฟ ลิ้นจี่ เป็นต้น รายได้หลักมาจากการทำการเกษตรคือการปลูกผักพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่ลามา และการปลูกพริกกะเหรี่ยง มีการประกอบอาชีพรับจ้าง หัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น ปัจจุบันมีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร โดยสนับสนุนและปรับปรุงการเพาะปลูกพืช และการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเดิม คือ พริกกะเหรี่ยง โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์พริกกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และการส่งเสริมอาชีพทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ เสาวรสหวาน และอาโวคาโด ส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือนในการจำหน่ายในชุมชน การปลูกฟักทองญี่ปุ่น ในการสร้างตลาดความเชื่อมโยงกับโครงการหลวงรวมทั้งจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมูหลุม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรกร และสามารถนำมูลสุกรที่ได้ในการปรับโครงสร้างดิน มีการลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน มีการนำผลงานวิจัยการเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มผลิตข้าวนา และข้าวไร่
จากข้อมูลรายได้จากการส่งเสริมในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมยปีงบประมาณ 2557 - 2562 พบว่ามีแนวโน้มรายได้จากการส่งเสริมเพิ่มสูงขึ้นจาก 2,003,690 บาทในปีงบประมาณ 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 22,576,517 บาท ในปีงบประมาณ 2562 และในปีงบประมาณ 2563 ข้อมูลรายได้จากการส่งเสริมข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 อยู่ที่ 297,619 บาท
ที่มา : กลุ่มงานตลาด สำนักพัฒนา